- ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรทิพย์ สารีโส
- 925 ครั้ง
ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง | การผลิตไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์ในระดับโรงงานต้นแบบและการพัฒนาสูตรอาหารสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต |
---|---|
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง | รศ.ดร.สันทัด วิเชียรโชติ |
เจ้าของผลงานร่วม | ผศ.ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ , ผศ.ดร.นวลพรรณ ศิรินุพงศ์ , ดร.ปรียาภรณ์ เดชอรัญ , พญ.สุวิกรานต์ วงศ์ประไพโรจน์ |
คำสำคัญ | ไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์;โรงงานต้นแบบ;โรคไตเรื้อรัง;อาหารสุขภาพ;พรีไบโอติก |
หน่วยงาน | คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ |
ปีที่เผยแพร่ | 2563 |
คำอธิบาย | ปัจจุบันมีการเติมสารพรีไบโอติกซึ่งเป็นใยอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตชนิดละลายน้ำได้แต่ร่างกายย่อยไม่ได้ลงในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต พรีไบโอติกทางการค้าที่มีชื่อว่า ไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์ (isomalto-oligosaccharide, IMO) เป็นพรีไบโอติกทางการค้าเพียงชนิดเดียวที่ผลิตจากประเทศไทยได้โดยใช้วัตถุดิบจากแป้งข้าว วัตถุประสงค์ขอฃการวิจัยเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์จากสตาร์ชข้าวในปริมาณมากขึ้นในระดับโรงงานต้นแบบ และประเมินความปลอดภัยในหนูทดลอง (ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) โดยการพัฒนาสูตรอาหารสุขภาพสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตโดยปรับปรุงจากสูตรของปีที่ 1 ผลการศึกษาพบว่า องค์ประกอบทางเคมีของไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์จากสตาร์ชข้าวที่ผลิตได้ในระดับโรงงานต้นแบบ มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก (ร้อยละ 97.0) ให้พลังงาน 3.89 กิโลแคลอรีต่อกรัม มีโปรตีนร้อยละ 0.22 น้ำตาลทั้งหมดร้อยละ 49.2 ไขมันทั้งหมดน้อยกว่าร้อยละ 0.01 ไม่พบใยอาหารในตัวอย่าง การส่งเสริมการเจริญของเชื้อโพรไบโอติก โดยการใช้ IMO เป็นแหล่งคาร์บอนพบว่า IMO สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกได้สูงที่สุดไปต่ำที่สุด คือจุลินทรีย์สายพันธุ์ Bifidobacterium animalis subsp. lactis, Bifidobacterium longum และ Bifidobacterium bifidum ตามลำดับ เมื่อนำไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์จากสตาร์ชข้าวที่ผลิตได้ในระดับโรงงานต้นแบบมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต โดยพิจารณาตามเกณฑ์การรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผง โดยผลิตภัณฑ์ 1 หน่วยบริโภคที่พัฒนาขึ้น มีพลังงานอยู่ในช่วง 320-330 กิโลแคลอรี และมีสารอาหารทั้ง 7 ชนิด ได้แก่ โปรตีน แคลเซียม เหล็ก ไขมันอิ่มตัว ไขมันทั้งหมด โซเดียม และใยอาหารเป็นไปตามเกณฑ์การรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ที่กำหนด ยกเว้นสารอาหารในกลุ่มน้ำตาลทั้งหมด สูตรที่พัฒนาขึ้นยังมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งต้องพัฒนาต่อไปในอนาคต ในด้านความปลอดภัยพบว่าไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์ที่ผลิตขึ้นมีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง (หนู) โดยมีค่า LD50 มากกว่า 5,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว และมีค่า no-observed adverse effects level (NOAEL) มากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ทั้งในหนูเพศผู้และเพศเมีย ไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์จากสตาร์ชข้าวที่ผลิตได้ในระดับโรงงานต้นแบบมีคุณสมบัติความเป็น พรีไบโอติก มีความปลอดภัยและสามารถใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการพัฒนาเป็นอาหารสุขภาพต่อไปได้ |
ข้อมูลเพิ่มเติม | http://agro.psu.ac.th/ |
สาขาการวิจัย |
|
การผลิตไอโซมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์ในระดับโรงงานต้นแบบและการพัฒนาสูตรอาหารสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต is licensed under a Creative Commons Attribution-NoDerivatives 3.0 Thailand License.