ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การแพร่กระจายและสถานภาพการอนุรักษ์พลับพลึงธาร (Crinum thaianum J.Schulze) ในประเทศไทย
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง นางสาวนิรันดร์รัตน์ ป้อมอิ่ม
เจ้าของผลงานร่วม ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ไตรสุรัตน์ , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงใจ ศุขเฉลิม
คำสำคัญ พลับพลึงธาร;การแพร่กระจาย;สถานภาพการอนุรักษ์
หน่วยงาน คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีที่เผยแพร่ 2559
คำอธิบาย การศึกษาการแพร่กระจายและสถานภาพการอนุรักษ์พลับพลึงธาร (Crinum thaianum J. Schulze) ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาการกระจายและนิเวศวิทยา ตลอดการประเมินสถานภาพการอนุรักษ์พลับพลึงธาร ตาม IUCN red list categories and criteria Version 3.1 โดยใช้แบบจำลองการกระจาย Maximum entropy (MaxEnt) ในการประเมินและสร้างแผนที่การกระจายของพลับพลึงธาร ผลการศึกษา พบว่า แผนที่การกระจายของพลับพลึงธาร ด้วยแบบจำลอง MaxEnt ให้ค่าความถูกต้องร้อยละ 94 ปัจจัยทางด้านนิเวศที่มีผลต่อการกระจายของพลับพลึงธารมี 6 ปัจจัย ประกอบด้วย 1) ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปี (3,100-3,300 มิลลิเมตร) 2) ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในช่วงฤดูแล้ง (27.5-28.5 องศาเซลเซียส) 3) อุณหภูมิสูงสุดในเดือนที่มีอากาศร้อนสุด (33.5-34 องศาเซลเซียส) 4) ความสูงจากระดับ น้ำทะเลปานกลาง (0-30 เมตร) 5) กลุ่มชุดดิน (ดินเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำบริเวณสันดินริมน้ำ ดินบนเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายแป้ง มีค่า pH 5.0-6.0 ดินล่างเป็นดินร่วนเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง ค่า pH 5.5-7.0) 6) การใช้ประโยชน์ที่ดิน (ป่าไม่ผลัดใบ และพบได้บ้างในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ชุมชน) จากการศึกษาในอดีตและปัจจุบัน พบว่า ขอบเขตการแพร่กระจายของพลับพลึงธาร มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ดังนั้น สถานภาพของพลับพลึงธารจึงจัดอยู่ในเกณฑ์ “ใกล้สูญพันธุ์” (endangered)
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง