คำอธิบาย |
พลับพลึงธาร (Crinum thaianum) เป็นพืชน้ำสถานะใกล้สูญพันธุ์ พบกระจายบริเวณตอนใต้ของประเทศไทยเท่านั้น มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจสังคม และระบบนิเวศ การศึกษานี้เป็นศึกษาความเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อการอนุรักษ์พลับพลึงธารโดยใช้วิธีการทดลองทางเลือก (Choice experiment) โดยให้ผู้ตอบเลือกทางเลือกที่พึงพอใจมากที่สุด เก็บข้อมูลแบบสอบถามทั้งสิ้น 519 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา และกรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ (ระนอง, พังงา) พบว่า มูลค่าการคงอยู่ของพลับพลึงธารของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เท่ากับ 488 บาทต่อครัวเรือนต่อปี, มูลค่าเผื่อใช้ของพลับพลึงธาร เท่ากับ 342 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ ความอุดมสมบูรณ์ เท่ากับ 284 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รวมมูลค่าเศรษฐศาสตร์ของพลับพลึงธารของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เท่ากับ 1,114 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือ 23,549,960 บาทต่อปี ปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจจ่ายของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ ได้แก่ สถานะการสมรส, การเป็นสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์, ทัศนคติเกี่ยวกับปัญหาทางสังคม และความเข้าใจในเรื่องข้อมูลทั่วไปของพลับพลึงธาร
สำหรับกลุ่มตัวอย่างนอกพื้นที่ (กรุงเทพมหานคร) พบว่า มูลค่าการคงอยู่ของพลับพลึงธาร 472 บาทต่อครัวเรือนต่อปี, มูลค่าเผื่อใช้ของพลับพลึงธารของกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่เท่ากับ 252 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และมูลค่าการใช้ประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ ดักตะกอนต่างๆ เพื่อให้น้ำมีความใสสะอาด เท่ากับ 238 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รวมมูลค่าเศรษฐศาสตร์ของพลับพลึงธารของ กลุ่มตัวอย่างนอกพื้นที่ 962 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจัยที่มีผลต่อความเต็มใจจ่ายของกลุ่มตัวอย่างนอกพื้นที่ ได้แก่ เพศ, การศึกษา, รายได้เฉลี่ยต่อเดือน, ทัศนคติเกี่ยวกับบัญหาทางสังคม, ความเข้าใจในเรื่องข้อมูลทั่วไปของพลับพลึงธาร และความเข้าใจเรื่องการคุกคามพลับพลึงธาร |