ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การเสริมพลังการเรียนรู้ของเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินเสื่อมคุณภาพ ให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชในจังหวัดเชียงใหม่
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง นายสุพจน์ บุญแรง
เจ้าของผลงานร่วม นางสาวพวงเพชร พิมพ์จันทร์
คำสำคัญ ดินเสื่อมคุณภาพ;หญ้าแฝก;การเรียนรู้ของเกษตรกร
หน่วยงาน คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปีที่เผยแพร่ 2560
คำอธิบาย พื้นที่ทำการเกษตรของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากขาดการบำรุงดูแลอย่างถูกวิธี และเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ทำให้ดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ การแก้ปัญหานี้โดยใช้ หญ้าแฝกเป็นวิธีที่ประหยัด ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมพลังการเรียนรู้ของเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินเสื่อมคุณภาพให้เหมาะสมต่อการปลูกพืชในจังหวัดเชียงใหม่ มีเกษตรกรพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ อำเภอแม่วาง อำเภอแม่แตง และอำเภอสะเมิง มีการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ คือ การขยายพันธุ์หญ้าแฝก การผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์น้ำโดยใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นและการตรวจสอบคุณภาพดินอย่างง่าย มีเกษตรกรและผู้สนใจมากกว่า 200 คน ได้เรียนรู้ประโยชน์ของหญ้าแฝกที่ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุแก่ดิน ปรับโครงสร้างดินและสภาพนิเวศดินให้เหมาะสมต่อจุลินทรีย์ ผลการตรวจสอบดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำเพิ่มเป็น 2 เท่าและมีจุลินทรีย์ในดินเพิ่มขึ้น ผลการจัดทำคู่มือการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งแบ่งเนื้อหา 2 ส่วน คือ เทคนิคการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินเสื่อมคุณภาพและการตรวจสอบคุณภาพดินอย่างง่าย พบว่าเกษตรกรแกนนำ 5 ราย สามารถเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้แก่บุคคลอื่นได้ และผลจากการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์น้ำ เมื่อนำไปทดลองใช้กับพืชผักปรากฏว่าได้ผลดี จึงมีเกษตรกร 18 ราย ได้กลับมาขอรับการฝึกอบรมเพิ่มเติม นอกจากนี้การใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินในนาข้าว มีต้นทุนการผลิตข้าวลดลงจากเดิมร้อยละ 10.5 แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 ส่วนการปรับปรุงดินสวนลำไยซึ่งเป็นดินลูกรังมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและอุ้มน้ำได้ไม่ดี ปรากฏว่าต้นทุนค่าปุ๋ยและค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำลดลงร้อยละ 14.3 และ 10 ตามลำดับ ยิ่งกว่านี้การปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ขนาด 0.5 ไร่ จำหน่ายกล้าหญ้าแฝกเป็นเงิน 36,150 บาท และยังได้อินทรียวัตถุบำรุงดินทำให้ประหยัดค่าปุ๋ยและได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เป็นเงินรวมกัน 2,229 บาทต่อไร่ ดังนั้นกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้หญ้าแฝกปรับปรุงดินเสื่อมคุณภาพทำให้เกษตรกรมีการเรียนรู้และนำไปปฏิบัติอย่างได้ผลช่วยลดต้นทุนการผลิตอย่างชัดเจน
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง