ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง แนวทางปฏิบัติที่ดีและข้อเสนอเชิงนโยบายระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง รศ.ดร.บรรจบ ภิรมย์คำ
เจ้าของผลงานร่วม รศ.ดร.สุมิตร สุวรรณ , รศ.ดร.จรูญศรี มาดิลกโกวิท , ผศ.ดร.พิชญาภา ยืนยาว , ผศ.วิไลลักษณา สร้อยคีรี , ดร.กุลธิดา นุกูลธรรม , ดร.ธีรศักดิ์ สร้อยคีรี , อาจารย์ สุธารัตน์ ชาวนาฟาง
คำสำคัญ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
หน่วยงาน คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ปีที่เผยแพร่ 2561
คำอธิบาย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 2) ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ดี และ 3) ให้ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสม ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ได้มีการเปลี่ยนสถานภาพการบริหารจัดการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 617 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบบังเอิญและการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการประชุมสัมมนา วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้การหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1. ในภาพรวมสภาพปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มีค่าเฉลี่ยความคิดเห็นสูงที่สุดในเรื่องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ( = 3.86, S.D. = 0.89) รองลงมา ได้แก่ มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของสถาบันสู่ประชาคมสาธารณะ ( = 3.75, S.D. = 0.91) และมีระบบการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการปฏิบัติงานควบคู่กับการใช้งบประมาณ ( = 3.74, S.D. = 0.91) ในขณะที่ มีค่าเฉลี่ยความคิดเห็นต่ำที่สุดในเรื่องมีการพิจารณาให้พ้นจากงานอย่างเป็นธรรม ( = 3.30, S.D. = 0.97) รองลงมา ได้แก่ มีการเลื่อนค่าจ้างเงินเดือนที่เป็นธรรม ( = 3.32, S.D. = 0.94) มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานที่สร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ( = 3.37, S.D. = 0.94) และมีการลดขั้นตอนในการปฏิบัติงานที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ( = 3.37, S.D. = 0.99 2. แนวทางปฏิบัติที่ดีระบบการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐทั้ง 3 แห่ง คือ 1) การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานทางวิชาการที่ไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ 2) การบริหารงานที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เช่น มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของสถาบันสู่ประชาคมสาธารณะ มีระบบการติดตามตรวจสอบที่ดีทั้งในเรื่องการเงิน งบประมาณ และการปฏิบัติงาน เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย โดยมีสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลกิจการทั่วไป 3. ข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยควรพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยเป็นไปตามความต้องการของสังคม และเหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย 2) การบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย ควรมีบุคลากรประเภทเดียว คือ พนักงานมหาวิทยาลัย 3) มีการแสวงหางบประมาณจากภาคเอกชนและศิษย์เก่า 4) ลดขั้นตอนในการทำงานให้รวดเร็วมากขึ้นและมีความคล่องตัวทั้งระบบเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ 5) มหาวิทยาลัยที่จะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ควรมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน และต้องคิดให้เหมาะกับบริบทของตนเอง 6) มหาวิทยาลัยและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ต้องร่วมกันคิดกลไกที่ดีในการได้มาซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย 7) แก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ให้มีความชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเป็นหน่วยงานของรัฐและพนักงานมหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อมูลเพิ่มเติม http://edu.kps.ku.ac.th/2016/
สาขาการวิจัย
  • สังคมศาสตร์