ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การพัฒนาระบบทำความเย็นแบบระเหยน้ำร่วมกับการบังคับทิศทางอากาศใต้รางปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในโรงเรือนเขตร้อน
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง นายภานุวิชญ์ พุทธรักษา
คำสำคัญ ระบบทำความเย็นแบบระเหย;การบังคับทิศทางอากาศ;สตรอว์เบอร์รี่;โรงเรือน
หน่วยงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ปีที่เผยแพร่ 2561
คำอธิบาย งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาศักยภาพการทำความเย็นแบบระเหยร่วมกับการบังคับทิศทางอากาศใต้รางปลูกสตรอว์เบอร์รี่ในโรงเรือน ภายใต้สภาพภูมิอากาศเขตร้อนจังหวัดเชียงใหม่ โดยโรงเรือนที่ใช้ศึกษามีขนาดกว้าง 6 m ยาว 24 m และสูง 4.8 m ผนังโรงเรือนคลุมด้วยตาข่ายกันแมลง หลังคาคลุมพลาสติกโพลีเอทิลีนและติดตั้งตาข่ายพรางแสงด้านบนพลาสติก ภายในโรงเรือนมีรางปลูกสตรอว์เบอร์รี่จำนวน 5 แถว ขนาดรางกว้าง 0.3 m ยาว 21 m พร้อมติดตั้งพัดลมระบายอากาศชนิดหมุนตามแกนขนาด 50 W ไว้ใต้ราง ผนังทิศตะวันออกติดตั้งแผ่นระเหยน้ำที่มีพื้นที่หน้าตัด 14.04 m2 ทำงานร่วมกับพัดลมระบายอากาศใต้รางในการทำความเย็นให้กับต้นสตรอว์เบอร์รี่ กรณีศึกษาแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ การใช้พลาสติกกั้นรอบรางปลูกและเว้นช่องว่างให้อากาศไหลสัมผัสกับทรงพุ่มสตรอว์เบอร์รี่ และการใช้ถุงลมพลาสติกทรงกระบอกยาวที่มีการเจาะรูเพื่อเป่าอากาศให้สัมผัสกับทรงพุ่มสตรอว์เบอร์รี่ จากการศึกษาพบว่า ระบบทำความเย็นแบบระเหยสามารถลดอุณหภูมิอากาศในโรงเรือนได้ 1.0-2.7 oC และความชื้นสัมพัทธ์อากาศเพิ่มขึ้น 9% สำหรับการใช้ระบบทำความเย็นแบบระเหยร่วมกับการบังคับทิศทางอากาศใต้รางปลูกพบว่า กรณีการใช้พลาสติกกั้นรอบรางปลูกสามารถเพิ่มความเร็วอากาศและค่าสัมประสิทธิ์การพาความร้อนใต้รางปลูกและบริเวณทรงพุ่มได้สูงกว่ากรณีใช้ถุงลมพลาสติกและกรณีไม่มีการบังคับทิศทางอากาศทำให้ทรงพุ่มสตรอว์เบอร์รี่สามารถรับอากาศเย็นที่ผลิตจากระบบทำความเย็นแบบระเหยได้เร็วจึงสามารถลดอุณหภูมิอากาศและเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์อากาศได้ดีกว่า 2-3 oC และ 12-17% ตามลำดับ รวมทั้งมีค่าความสามารถในการทำความเย็นสูงกว่ากรณีอื่น 4-5 kW หลังจากนั้นได้หาแนวทางการเพิ่มศักยภาพการลดอุณหภูมิอากาศทรงพุ่มสตรอว์เบอร์รี่โดยติดตั้งท่อน้ำเย็นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.27 cm ตลอดความยาวรางปลูกสตรอว์เบอร์รี่ร่วมกับพลาสติกกั้นรอบรางพบว่า ไม่มีผลต่อการลดอุณหภูมิอากาศบริเวณทรงพุ่มเนื่องจากความเย็นที่ได้จากการแผ่รังสีของท่อน้ำเย็นมีค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้พลาสติกกั้นรอบรางปลูก
สาขาการวิจัย
  • วิศวกรรมและเทคโนโลยี

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง