ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การตรวจวัดปริมาณโลหะหนักหลายชนิดในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิต/The evaluation of multiple element content in the vitreous humour as potential markers of post-mortem interval estimation
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง ดร.พญ.ปานใจ โวหารดี
เจ้าของผลงานร่วม -
คำสำคัญ ระยะเวลาหลังการเสียชีวิต;น้ำวุ้นลูกตา;โลหะหนัก;แคลเซียม;ทองแดง;เหล็ก;โพแทสเซียม;การประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิต;การเปลี่ยนแปลงหลังการเสียชีวิต;postmortem interval (PMI);vitreous humor;elements;calcium;copper;iron;potassium;postmortem interval estimation;postmortem change;inductively coupled plasma-mass spectrometry (ICP-MS)
หน่วยงาน สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ปีที่เผยแพร่ 2562
คำอธิบาย ระยะเวลาหลังการเสียชีวิตเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญยิ่งในกระบวนการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม สามารถนำไปใช้ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยนั้นกระทำความผิดจริงหรือในทางกลับกันสามารถทำให้ผู้บริสุทธิ์พ้นโทษได้ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์พยายามการศึกษาค้นคว้าหาเครื่องบ่งชี้ในการประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิตที่มีความถูกต้องแม่นยำมาหลายศตวรรษ แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีหนึ่งวิธีใดที่จัดว่าถูกต้องแม่นยำที่สุด โครงการวิจัยเรื่อง การตรวจวัดปริมาณโลหะหนักหลายชนิดในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปริมาณโลหะหนักหลายชนิดในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิตที่สามารถตรวจวัดปริมาณได้และทำซ้ำได้ รวมทั้งมีความไวต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงหลังการเสียชีวิตในช่วงเวลาไม่นาน ผู้วิจัยทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของปริมาณธาตุโลหะหนักหลายชนิดในน้ำวุ้นลูกตา โดยใช้หมูเลี้ยง จำนวน 20 ตัว (Sus domesticus) เป็นสิ่งทดลองเนื่องจากหมูมีขนาดร่างกายและอัตราการเผาผลาญพลังงานใกล้เคียงกับมนุษย์ ทั้งนี้ผลการศึกษาวิจัยหลายเรื่องได้ใช้โพแทสเซียมในน้ำวุ้นลูกตาเป็นเครื่องบ่งชี้ทางชีวภาพในการประมาณระยะเวลาหลังเสียชีวิต ความเข้มข้นของโพแทสเซียมในน้ำวุ้นลูกตาถูกพบว่าเพิ่มขึ้นแบบสหสัมพันธ์กับระยะเวลาหลังการเสียชีวิต ผู้วิจัยใช้เครื่อง Inductively coupled plasma-mass spectrometry (ICP-MS) ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ที่มีความไวและความถูกต้องแม่นยำสูงกว่าเครื่องวัดที่ใช้ตรวจวิเคราะห์น้ำวุ้นลูกตาที่ใช้โดยทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถวิเคราะห์แยกแยะธาตุหลายชนิดได้พร้อมกัน งานวิจัยชิ้นนี้เป็นชิ้นแรกๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินธาตุโลหะหนักในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังเสียชีวิตที่ใช้ ICP-MS เป็นเครื่องตรวจวัดปริมาณธาตุโลหะหนัก นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ออกแบบระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ภูมิอากาศและภูมิประเทศตามสภาพธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย และจัดว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะประยุกต์ใช้ผลการวิจัยในการปฏิบัติในสถานการณ์จริงให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุด น้ำวุ้นลูกตาถูกนำไปตรวจสอบในช่วงระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยส่งผลให้สิ่งทดลองเปลี่ยนสภาพเข้าสู่กระบวนการเน่าอย่างรวดเร็ว ผลการทดลองที่ปรากฏนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งเนื่องจากพบธาตุโลหะหนัก 4 ชนิดที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นหลังจากเสียชีวิต ได้แก่ แคลเซียม, ทองแดง, เหล็กและโพแทสเซียม ทั้งนี้แคลเซียม, ทองแดงและเหล็กในน้ำวุ้นลูกตายังไม่ปรากฏมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังเสียชีวิตมาก่อน การใช้ธาตุโลหะหนักมากกว่าหนึ่งชนิดในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อประมาณระยะเวลาหลังเสียชีวิตอาจทำให้สมรรถนะในการทำนายของค่าสหสัมพันธ์ระหว่างเครื่องบ่งชี้ทางชีวภาพและระยะเวลาหลังการเสียชีวิตสูงขึ้น ผลจากการวิจัยตอบสมมุติฐานของงานวิจัยและบรรลุผลในการค้นพบเครื่องบ่งชี้ทางชีวภาพที่วัดปริมาณได้ และมีการเปลี่ยนแปลงในอัตรารวดเร็วในช่วงสั้นๆ หลังการเสียชีวิต นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ยังสอดคล้องกับพ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 มาตรา 5(7) ที่กำหนดให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมร่วมมือกับหน่วยงานอื่นของรัฐในการวิจัยและพัฒนาเพื่อกำหนดค่าพื้นฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากยังไม่เคยมีงานวิจัยในประเทศไทยที่ศึกษาเครื่องบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิตมาก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม -
สาขาการวิจัย
  • วิทยาศาสตร์การแพทย์และสุขภาพ
Creative Commons License


การตรวจวัดปริมาณโลหะหนักหลายชนิดในน้ำวุ้นลูกตาเพื่อใช้ในการประมาณระยะเวลาหลังการเสียชีวิต is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 Thailand License.


ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง