ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง | แสง-เงาบนอารยธรรมเขมรจากความงดงามสู่การเสื่อมสลาย |
---|---|
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง | ผศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์ |
เจ้าของผลงานร่วม | ผศ.ชยารัฐ จุลสุคนธ์ |
คำสำคัญ | การสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ซิลค์สกรีน , บรรยากาศในงานศิลปะ , แสงจัดเงาจัด , กาวกระถิน |
หน่วยงาน | คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน |
ปีที่เผยแพร่ | 2562 |
คำอธิบาย | งานวิจัยสร้างสรรค์หัวข้อ “แสง - เงาบนอารยธรรมเขมรจากความงดงามสู่การเสื่อมสลาย” (Shade & Shadow on Khmer Civilization from Beauty to Loss ) เป็นการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนร่วมสมัยแบบขาว-ดำ ในรูปแบบกึ่งเหมือนจริง โดยใช้เทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีนด้วยกาวกระถิน นำมาสร้างสรรค์ในรูปแบบเทคนิคเฉพาะตัว ผลงานทั้งหมดเน้นเนื้อหาการแสดงออกในด้านความงาม อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดจากน้ำหนักแสง – เงาที่ตกกระทบบนตัวปราสาทพนมวัน ซึ่งเป็นปราสาทหินของเขมรในจ.นครราชสีมา ความงดงามแห่งแสงและเงานี้แสดงให้รู้สึกถึงคุณค่าแห่งการเกิด ดับ และความไม่จีรังยั่งยืนในทุกสรรพสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ความเจริญรุ่งเรือง ความงดงามบนตัวปราสาทหินที่ย่อมมีการเสื่อมสลายเช่นกัน ซึ่งร่องรอยของการเสื่อมสลาย , การสูญเสียที่เกิดบนรูปทรงบนพื้นผิวปราสาทหินนี้สามารถกระตุ้นเตือนให้ผู้คนที่พบเห็นผลงานสร้างสรรค์ชุดนี้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ เสียดายและหวงแหนความงดงามของปราสาทหิน รับรู้ถึงคุณค่าแห่งการอนุรักษ์ภูมิปัญญาแห่งอารยศิลปกรรม ในการสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนขาว - ดำ ด้วยเทคนิคกาวกระถิน ผลงานทั้งหมดมุ่งเน้นองค์ความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการการสร้างผลงานด้วยการพิมพ์ซิลค์สกรีนจากกาวกระถิน ซึ่งเป็นเทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีนแบบใหม่ โดยเน้นการสร้างน้ำหนักอ่อน –แก่ บนพื้นผิว ซึ่งเป็นทัศนธาตุหลักในการแสดงออก โดยให้ความสำคัญกับน้ำหนักของแสง (สว่าง , ขาว ) ที่ตกลงกระทบบนลวดลายประติมากรรมแกะสลักบนตัวปราสาทหินของเขมรซึ่งมีความงดงาม ความสมบูรณ์อันหมายถึงสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ความมีคุณค่าแห่งสติปัญญาของอารยธรรมเขมร ในส่วนการพิมพ์ซิลค์สกรีนบนพื้นที่ที่เป็นน้ำหนักของแสงนี้ต้องให้ความสำคัญและพิถีพิถันในการสร้างน้ำหนักบนลวดลายและพื้นผิว แต่ในทางกลับกันในพื้นที่น้ำหนักของเงา (มืด , ดำ ) ที่ตกกระทบและซ่อนตัวอยู่ในเงามืด ซึ่งเป็นทิศทางด้านตรงข้ามกับพื้นที่ของแสง อันปรากฏในรูปแบบทั้งลวดลายที่หัก ผุกร่อน ชำรุด ทรุดโทรม และมีลักษณะของพื้นผิวที่หยาบ พื้นที่ของน้ำหนักด้านเงานี้ก่อให้เกิดความรู้สึกและความหมายของความตาย การเสื่อมสลาย การสูญเสียด้านมรดกทางอารยธรรม ซึ่งการพิมพ์ซิลค์สกรีนในส่วนพื้นที่ด้านเงานี้ จะให้ความสำคัญกับการทับซ้อนกันของน้ำหนักเข้ม ดำ ของพื้นผิว เปรียบเสมือนการอยู่คู่กัน ระหว่างความเจริญรุ่งเรือง (แสง) กับการเสื่อมสลาย (เงา) ในทุกอารยธรรมของมนุษยชาติ กระตุ้นเตือนให้มนุษย์ได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าแห่งอารยวัตนธรรม. |
ข้อมูลเพิ่มเติม | - |
สาขาการวิจัย |
|
แสง-เงาบนอารยธรรมเขมรจากความงดงามสู่การเสื่อมสลาย is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 Thailand License.