ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การสร้างสรรค์อาภรณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อตอบสนองต่อกาลเทศะและโอกาสใช้สอย
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง ผศ.ดร.ชนกนาถ มะยูโซ๊ะ
คำสำคัญ ผู้พิการทางสายตา;อาภรณ์;กาลเทศะ;นวัตกรรม
หน่วยงาน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ปีที่เผยแพร่ 2563
คำอธิบาย การวิจัยเรื่อง “การสร้างสรรค์อาภรณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อตอบสนองต่อกาลเทศะและโอกาสใช้สอย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมในการเลือกซื้อเสื้อผ้าและปัญหาอุปสรรคในการสวมใส่เครื่องแต่งกาย ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของกลุ่มผู้พิการทางสายตานำมาวิเคราะห์และประมวลองค์ความรู้ สร้างสรรค์เครื่องแต่งกายสำหรับสตรีพิการทางสายตา ประเภทชุดทำงานจำนวน 6 ชุด ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณร่วมกัน แหล่งข้อมูลปฐมภูมิจากการลงภาคสนามสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อเสื้อผ้าและปัญหาอุปสรรคในการสวมใส่เครื่องแต่งกายกลุ่มตัวอย่าง คือ สตรีพิการทางสายตา อายุระหว่าง 25-40ปี และข้อมูลทุติยภูมิ จากภาคเอกสารงานวิจัย หนังสือต่างๆ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 50 คน โดยการคัดเลือกแบบเจาะจง มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 13,000-16,000 บาท มีอาชีพค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาลสูงเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนใหญ่จะมีคนสายตาดีพาไปเลือกซื้อเสื้อผ้าคิดเป็นร้อยละ 96 ผลการวิจัยพบว่าผู้พิการทางสายตา ไม่สามารถทราบได้ว่าเสื้อเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังหากไม่มีป้ายคอ(ป้ายMain label), ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีซิปถอดได้, ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีการติดเครื่องเกาะเกี่ยวอยู่ด้านหลัง, ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีการผูกโบว์, ไม่ถนัดในการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป, ไม่สามารถทราบสีเสื้อผ้าได้, ไม่สามารถทราบลวดลายบนเสื้อผ้า, ไม่สามารถMix and Match เสื้อผ้าให้ดูเหมาะสมได้ด้วยตนเอง จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงเลือกนำเทคนิคต่างๆมาใช้ในการแก้ปัญหา อาทิเช่น การสกรีนสีนูนเป็นอักษรเบรลล์และลวดลาย การติดตั้งQR Codeเพื่ออ่านข้อมูลของตัว อีกทั้งยังเน้นการเลือกใช้วัสดุเครื่องเกาะเกี่ยวที่มีขนาดเหมาะสม เช่น กระดุมขนาดใหญ่กว่า 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป หลีกเลี่ยงการติดเครื่องเกาะเกี่ยวทางด้านหลัง เลือกใช้เทปตีนตุ๊กแก ติดตามแนวเปิดของตัวเสื้อผ้าแทนการซิป และใช้เอวยางยืดที่ขอบเอวแทนการติดซิปและตะขอ เพื่อสะดวกในการสวมใส่ รวมถึงการเลือกใช้นวัตกรรมสิ่งทอที่สนองความต้องการของกลุ่มตัวอย่างเช่น ผ้ากันยับ, ผ้าเคลือบคอลลาเจน, ผ้ารักษาอุณหภูมิ ผ้าฟิลาเม้น เป็นต้น โดยนำมาพัฒนาเป็นต้นแบบสู่การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายชุดทำงานสำหรับผู้พิการทางสายตา จำนวน 6 ชุด เพื่อเพิ่มความมั่นใจและลดความกังวลในการสวมใส่เสื้อผ้าให้ผู้พิการทางสายตามีความสุขและรับรู้ถึงความงามของเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้มากขึ้น ทั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจความพึงพอใจต่อผลงานสร้างสรรค์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน โดยการประเมินความพึงพอใจทั้ง 7 ด้านของกลุ่มตัวอย่างสตรีพิการทางสายตา จำนวน 30 คน สามารถสรุปผลความพึงพอใจในด้านรูปแบบ รูปทรง มีค่าเฉลี่ยรวม 4.80 ด้านวัสดุและเทคนิค มีค่าเฉลี่ยรวม 4.61 ด้านสีสัน มีค่าเฉลี่ยรวม 4.86 ด้านลวดลายผ้า มีค่าเฉลี่ยรวม 4.53 ด้านประโยชน์ใช้สอย มีค่าเฉลี่ยรวม 4.44 ด้านความสวยงาม มีค่าเฉลี่ยรวม 4.63 ด้านอารมณ์และความรู้สึก มีค่าเฉลี่ยรวม 4.45 โดยค่าเฉลี่ยรวมทั้ง 7 ด้าน มีค่าเฉลี่ยรวม 4.62 แสดงว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อคอลเล็คชั่นเครื่องแต่งกายชุดทำงานสำหรับสตรีพิการทางสายตา อยู่ในระดับ ดีมาก
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.tci-thaijo.org/index.php/APJ/article/view/159873
สาขาการวิจัย
  • สังคมศาสตร์
Creative Commons License

การสร้างสรรค์อาภรณ์สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อตอบสนองต่อกาลเทศะและโอกาสใช้สอย is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 3.0 Thailand License.

วิดีโอ

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง