ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การบริการระบบนิเวศของพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-ห้วยคอกม้า จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง รศ.ดร.ดอกรัก มารอด
เจ้าของผลงานร่วม ผศ.ชัชชัย ตันตสิรินทร์ , ผศ.ดร. ประทีป ด้วงแค , ผศ.ดร.สราวุธ สังข์แก้ว , ดร.แหลมไทย อาษานอก , ดร.ฑีฆา โยธาภักดี , ดร.ต่อลาภ คำโย , ผศ.อิงอร ไชยเยศ , นายสุธีระ เหิมฮึก
คำสำคัญ การสืบต่อพันธุ์พรรณพืช;แปลงถาวร;ป่าดิบเขาระดับต่ำ;ความหลากหลายทางชีวภาพ;การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
หน่วยงาน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีที่เผยแพร่ 2563
คำอธิบาย 1. รูปแบบการใช้ที่ดิน อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีพื้นที่ที่จัดอยู่ในระบบนิเวศภูเขา ร้อยละ 60 ของพื้นที่อุทยานฯ ผลการจำแนกรูปแบบการใช้ที่ดิน พบว่า พื้นที่ป่าผสมผลัดใบ (mixed deciduous forest) มีพื้นที่มากที่สุด คือ 111.37 ตารางกิโลเมตร รองลงมาได้แก่ ป่าดิบเขาระดับต่ำ (lower montane forest) ป่าเต็งรัง (deciduous dipterocarp forest) พื้นที่เกษตรกรรม (agricultural land) ป่าฟื้นฟูตามธรรมชาติ (secondary growth forest) ไร่ร้าง (old clearing) เมืองหรือชุมชน (urban land) ป่าสนเขา (pine forest) และแหล่งน้ำ (water resources) ตามลำดับ โดยมีการปกคลุมเท่ากับ 49.78, 45.22, 37.50, 7.17, 3.85, 0.99, 0.65 และ 0.16 ตารางกิโลเมตร ตามลำดับ 2. การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในอนาคต อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย การคาดการณ์การใช้ที่ดินในอนาคต ปี พ.ศ.2567 ที่เกิดจากผลกระทบของการใช้ที่ดินในปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2559) พบว่า สามารถจำแนกประเภทการใช้ที่ดินในปี พ.ศ. 2567 ออกได้ทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ พื้นที่ป่าดิบเขาระดับต่ำ พื้นที่ป่าเต็งรัง พื้นที่ป่าผสมผลัดใบ พื้นที่ป่าสนเขา พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือเมือง และแหล่งน้ำ ในอนาคตนั้นป่าผสมผลัดใบยังคงมีการปกคลุมพื้นที่มากที่สุดเช่นเดิม (มีพื้นทั้งหมด 104.52 ตร.กม. คิดเป็น 40.72 % ของพื้นที่ทั้งหมด) พื้นที่การปกคลุมของพื้นที่เกษตรกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีพื้นที่ปกคลุมมากรองจากป่าผสมผลัดใบ (มีพื้นที่ 52.85 ตร.กม. คิดเป็น 20.59 % ของพื้นที่ทั้งหมด) รองลงมาได้แก่ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขาระดับต่ำ ป่าสนเขา ชุมชนหรือเมือง และแหล่งน้ำ ตามลำดับ อัตราการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินระหว่างปี พ.ศ. 2559-2567 พบว่าพื้นที่เกษตรกรรมมีการขยายพื้นที่มากขึ้น เพิ่มขึ้นมากที่สุด 4.42 ตร.กม. รองลงมาคือคือ พื้นที่ชุมชน 0.90 ตร.กม. เป็นในทิศทางตรงข้ามกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปาที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะป่าผสมผลัดใบมีพื้นที่ลดลงมากที่สุด (3.81 ตร.กม.) เนื่องจากเป็นป่าที่อยู่บริเวณโดยรอบของชุมชน ทำให้ง่ายต่อการบุกรุก แสดงให้เห็นว่าในอนาคตนั้นการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชนมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก ดังนั้น จึงควรเร่งกำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้รวมถึงป้องกันพื้นที่ป่าธรรมชาติเดิมไม่ให้เกิดการบุกรุก ควบคู่ไปกับส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน ให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืนโดยไม่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติเพิ่มขึ้นในอนาคต 3. พลวัตและการสืบต่อพันธุ์ของสังคมพืชป่าดิบเขาฟื้นฟู เมื่อพิจารณาความคล้ายคลึงระหว่างสังคมพืช พบว่าพื้นที่ป่าฟื้นฟูจากการปลูกพืชท้องถิ่น (อายุประมาณ 23 ปี) ด้วยวิธีการแบบปลูกผสม (mixed planting species) มีแนวโน้มเข้าใกล้ป่าดิบเขาธรรมชาติมากกว่าการฟื้นฟูแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว (mono planting species) ทั้งในระดับไม้ใหญ่และไม้รุ่น ขณะที่พื้นที่ปล่อยทิ้งร้างเพื่อให้เกิดการทดแทนตามธรรมชาติพบว่าพื้นที่ไร่ร้างอายุ 35 ปี (abandoned area) มีการทดแทนเข้าสู่ป่าดิบเขาระดับต่ำตามธรรมชาติได้สูงกว่าพื้นที่ไร่ร้างอายุ 15 ปี (abandoned area) อย่างไรก็ตามการทดแทนเข้าสู่ป่าธรรมชาติในพื้นที่ป่าฟื้นฟูทั้งสี่รูปแบบนั้นมีความคล้ายคลึงกับป่าธรรมชาติอยู่ในระดับปานกลาง (ระหว่าง 35- 45 เปอร์เซนต์) แสดงให้เห็นว่า การฟื้นฟูป่าที่ผ่านการบุกรุกทำลายนั้นจำเป็นต้องใช้รูปแบบและชนิดพืชในการฟื้นฟูที่เหมาะสม รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาวนานในการฟื้นตัวกลับคืนสู่ป่าธรรมชาติ ดังนั้น การดูแลและป้องกันพื้นที่ป่าที่ยังสมบูรณ์ให้คงอยู่นับเป็นการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพืชพรรณและสัตว์ป่าได้อย่างดี ขณะเดียวกันก็ควรดำเนินมาตรการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลโดยตรงต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง