ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง | การจัดการนวัตกรรมการเกษตร: กรณีศึกษาโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้งกับผลลำไยสดส่งออกทางภาคเหนือของประเทศไทย |
---|---|
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง | นางสาวรษิกา สีวิลัย |
เจ้าของผลงานร่วม | รศ.ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์ , ผศ.ดร.ไพศาล กาญจนวงศ์ , รศ.จักรพงษ์ พิมพ์พิมล |
คำสำคัญ | นวัตกรรมการเกษตร;การรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์;ลำไยสด;เทคโนโลยีระบบบังคับอากาศแนวตั้ง |
หน่วยงาน | มหาวิทยาลัยแม่โจ้/สาขาวิชาสหวิทยาการเกษตร |
ปีที่เผยแพร่ | 2564 |
คำอธิบาย | ลำไยเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้และเป็นสินค้าเกษตรส่งออก ตลาดหลักอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชีย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อให้สินค้าลำไยสดเก็บได้นานและควบคุมคุณภาพของลำไยระหว่างการส่งออก โดยเชิงการค้านั้นเทคนิคการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์นั้นเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดในขณะนี้ ปัจจุบันนิยมใช้อยู่ 2 แบบ คือ 1) แบบดั้งเดิม 2) แบบระบบบังคับอากาศแนวตั้ง (vertical force-air) ซึ่งเทคนิคการรมด้วยแบบระบบบังคับอากาศแนวตั้งนั้น มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการตกค้างซัลเฟอร์ในสินค้าลำไยสดส่งออก แต่เทคโนโลยีดังกล่าวนั้นยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าที่ควร ในการศึกษานี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed methods research) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้เทคโนโลยีการรม SO2 ด้วยระบบบังคับอากาศแบบแนวตั้ง ของผู้ประกอบการในการผลิตลำไยสดส่งออกของไทย และเพื่อกำหนดกลยุทธ์ (strategies) และจัดทำแผนกลยุทธ์ (strategy plan) สำหรับจัดทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ในการใช้งานนวัตกรรมการรม SO2 ด้วยระบบบังคับอากาศแบบแนวตั้ง แก่ผู้ประกอบการผู้ส่งออกลำไย โดยการศึกษาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนที่ 1. การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการหาปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกใช้นวัตกรรมการเกษตร วิเคราะห์โดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบ (factor analysis) ผลที่ได้พบว่ามีปัจจัย 28 ปัจจัย ใน 10 องค์ประกอบ ที่ส่งผลต่อการเลือกใช้นวัตกรรมการเกษตร โดยสามารถอธิบายการเลือกใช้เทคโนโลยีได้ 53.9% ขั้นตอนที่ 2. เรียงลำดับความสำคัญของปัจจัยในการเลือกใช้เทคโนโลยี ใช้เทคนิค SWOT เพื่อหากลยุทธ์ในการเลือกใช้นวัตกรรมการเกษตร ได้เลือก 6 องค์ประกอบ ที่สามารถนำไปสร้างเป็นแผนยุทธศาสตร์ วิเคราะห์หาแนวทางในการผลักดันให้ผู้ประกอบการมาเลือกใช้เทคโนโลยีการรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่มีประสิทธิภาพให้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ได้กลยุทธ์ในการจัดการเทคโนโลยีการรมก๊าซ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้ง รวม 5 ด้าน คือ 1) ด้านความคุ้มค่าในการลงทุน 2) ด้านเป้าหมายองค์กร 3) ด้านความพร้อมในการแข่งขัน 4) ด้านการใช้เทคโนโลยี และ 5) ด้านการดำเนินงานและการบริหารจัดการ นำมาสร้างกลยุทธ์โดย TOWS Matrix ขั้นตอนที่ 3. จากการสนทนากลุ่ม (Focus group) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีโรงรมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ได้นำกลยุทธ์ที่ได้แต่ละด้านมาวิเคราะห์เป็นกลยุทธ์ในแต่ละมิติ คือ กลยุทธ์เชิงรุก กลยุทธ์เชิงแก้ไข กลยุทธ์เชิงป้องกัน และกลยุทธ์เชิงรับ เสนอเป็นแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ผล พบว่าควรใช้กลยุทธ์เชิงป้องกัน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัว รวมถึงผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ในเรื่องของการเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน หน่วยงานภาครัฐควรมุ่งเน้นการทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกลำไยสด ที่ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อน และกฎระเบียบการถือครอง SO2 ร่วมไปกับการพัฒนาการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีการรม SO2 ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้ง เพื่อเตรียมหาแนวทางที่จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเป็นอิสระ นอกจากนี้ควรทบทวนบทบาทความซ้ำซ้อนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมาตรฐานและกระบวนการการผลิตลำไย รวมถึงการเจรจาต่อรองกับกฏระเบียบที่คุมเข้มของประเทศคู่ค้า ในส่วนของเป้าหมายองค์กร รัฐควรสนับสนุนและหาช่องทางการขยายตัวกับตลาดใหม่ โดยทำโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีการรม SO2 ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้ง สร้างความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำเสนอจุดแข็งของเทคโนโลยีที่สามารถผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ลดระดับปริมาณ SO2 ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ และเพื่อให้เกิดความพร้อมในด้านการแข่งขัน ภาครัฐต้องเห็นความสำคัญที่ลำไยสดส่งออกยังคงเป็นสินค้าพืชเศรษฐกิจที่ประเทศจีนยังมีความต้องการบริโภคสูง จัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อทบทวนความเข้าใจในกระบวนการผลิตลำไยสดส่งออก รักษามาตรฐานการผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง ศึกษาเส้นทางใหม่ๆ เพิ่มช่องทางการตลาด พัฒนาและเพิ่มช่องทางในการสื่อสารการถ่ายทอดองค์ความรู้และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้สามารถรู้และเข้าใจขั้นตอนการผลิตลำไยสดส่งออกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ส่วนในด้านการใช้เทคโนโลยี ทำให้เทคโนโลยีมีความเป็นสาธารณะ สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ทางการค้า ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเทคโนโลยีการรม SO2 ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้ง เผยแพร่จุดเด่นและจุดแข็งของเทคโนโลยีให้หลากหลายช่องทาง สุดท้ายในด้านการดำเนินงานและการบริหารจัดการ จัดทำโครงการสนับสนุนเพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบมาตรฐานการผลิตสินค้าของสถานประกอบการให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งเสริมให้สถานประกอบการได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการผลิตขั้นพื้นฐาน จัดอบรมให้ผู้ประกอบการรู้ในเรื่องกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม วัตถุอันตราย ความปลอดภัยตามกรอบของกฏหมาย มาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงมาตรฐานสากลที่ลูกค้าต่างประเทศยอมรับ และจากข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวมานั้น จึงนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายสาธารณะ เพื่อให้ภาครัฐมีแนวทางในการผลักดันให้ผู้ประกอบการโรงรม SO2 ได้ใช้นวัตกรรมการเกษตรนี้แทนการใช้เทคโนโลยีการรม SO2 ในแบบดั้งเดิมไปให้ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตลำไยสดส่งออกนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกับชุมชนได้ เกิดความยั่งยืนในธุรกิจลำไยสดส่งออกสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า ที่ผลิตภัณฑ์ลำไยสดส่งออกของไทยมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค |
กลุ่มการนำไปใช้ประโยชน์ | ด้านวิชาการ |
สาขาการวิจัย |
|
การจัดการนวัตกรรมการเกษตร: กรณีศึกษาโรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยระบบบังคับอากาศแนวตั้งกับผลลำไยสดส่งออกทางภาคเหนือของประเทศไทย is licensed under a Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0 Thailand License.