ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าชนิดกินได้ร่วมไม้เศรษฐกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพในจังหวัดนครพนม |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. หทัยกาญจน์ กกแก้ว |
เจ้าของผลงานร่วม |
นายเชิดชัย โพธิ์ศรี ,
นางสาวนิสากร ศรีธัญรัตน์ |
คำสำคัญ |
วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ด;โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ;เห็ดป่าชนิดกินได้;ไม้เศรษฐกิจ;อาหารเพื่อสุขภาพ |
หน่วยงาน |
มหาวิทยาลัยนครพนม |
ปีที่เผยแพร่ |
2564 |
คำอธิบาย |
โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าชนิดกินได้ร่วมไม้เศรษฐกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมีวัตถุประสงค์ดดังนี้ 1. เพื่อบริหารจัดการด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศเพื่อแหล่งอาหารธรรมชาติและสร้างรายได้ให้กับชุมชน 2. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากเห็ดสู่เชิงพาณิชย์เพื่อยกระดับรายได้ให้กับชุมชน 3. เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างชุมชนและหน่วยงานภาครัฐ และ 4. เพื่อบูรณาการไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายของหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่และส่วนกลางในจังหวัดนครพนม โดยมี 2 กลุ่มเป้าหมายหลักในการดำเนินโครงการคือ กลุ่มเป้าหมายที่ 1 โครงการในพระราชดำริ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ป่าห้วยศรีคุณ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริหนองปลาค้อเฒ่า กลุ่มเป้าหมายที่ 2 คือวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดในจังหวัดนครพนม 5 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดบ้านดงคราม วิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดบ้านแก้งน้อย วิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดบ้านโพนสว่าง วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเห็ดบ้านธาตุน้อย และวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตสมุนไพรภูไท มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 98 คน การดำเนินโครงการฯ ครั้งนี้ นับว่าเป็นการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สู่ชุมชนและสังคม ตามพระราชดำริฯ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนาศักยภาพของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ สามารถสร้างอาชีพเพื่อยกระดับรายได้จากการเพาะเห็ดป่าชนิดกินได้ร่วมไม้เศรษฐกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ
อย่างแท้จริง การดำเนินงานโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยต้นน้ำ คือ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ด้านวิชาการด้านการเพาะเห็ดป่าลงกล้าไม้เศรษฐกิจ กลางน้ำคือ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อแปรรูปอาหารเพื่อสุขภาพจากเห็ด และปลายน้ำ คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า แนวทางการจัดทำระบบมาตรฐานการผลิต GMP และการขอเลขสารบบอาหาร (อย.) และการจัดทำตลาดออนไลน์เพื่อวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมกับกำกับ ติดตามและประเมินการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์หลังการฝึกอบรมพร้อมทั้งการบูรณาการโครงการให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ผลการดำเนินงานตลอดโครงการสามารถบรรลุตามเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการที่กำหนดไว้ตามตัวชี้วัดดังนี้ มีวิสาหกิจผู้ผลิตเห็ดและชุมชนในจังหวัดนครพนมเข้าร่วมโครงการ 7 กลุ่ม (มากกว่าค่าเป้าหมาย 6 หน่วยงาน) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ป่าไม้ที่เข้าร่วมโครงการ 4 หน่วยงาน (มากกว่าค่าเป้าหมาย 1 หน่วยงาน) คือ โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ป่าห้วยศรีคุณ และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริหนองปลาค้อเฒ่า มีผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งหมด 98 คน (มากกว่าค่าเป้าหมาย 60 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.76) สร้างเครือข่ายในการเพาะเห็ดป่าร่วมไม้เศรษฐกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากเห็ดป่า 2 เครือข่าย (มากกว่าค่าเป้าหมาย 1 เครือข่าย) คือ เครือข่ายหมู่บ้านพิทักษ์ป่าฯ และเครือข่ายเพาะเห็ดป่าและแปรรูปเห็ดเพื่อสุขภาพนครพนม ผู้เข้ารับการอบรมโครงการที่นำความรู้ไปใช้ประโยชน์จริงร้อยละ 100 ระยะในการดำเนินโครงการ 12 เดือน โดยผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้หลังการอบรมเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเวลาและค่าใช้จ่าย สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์เพื่อประกอบอาชีพสามารถเพิ่มรายได้โดยมีสัดส่วนผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเท่ากับ 17 (มากกว่าค่าเป้าหมายเท่ากับ 10) มีนักถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากเห็ดจำนวนมากกว่า 10 คน (ค่าเป้าหมายมากกว่า 10 คน) และมีผู้รับการถ่ายทอดฯ มีความพึงพอใจในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 87 (มากกว่าค่าเป้าหมายร้อยละ 80) ดังนั้น โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีครั้งนี้จึงนับว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ สามารถยกระดับรายได้และมีการพัฒนาและเติบโตของชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด |
สาขาการวิจัย |
|