ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การยกระดับรูปแบบการผลิตไก่งวงขุนให้มีคุณภาพสูงและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง ภาษาอังกฤษ The exaltation of the turkey production system to strengthen product quality and income for farmers in Khonburi city, Nakhon Ratchasima province
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง สุทิศา เข็มผะกา
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง ภาษาอังกฤษ Sutisa Khempaka
เจ้าของผลงานร่วม กาญจนา สุคัณธสิริกุล , ปภังกร ส่างสวัสดิ์ , เฉลิมชัย หอมตา
คำสำคัญ ไก่งวง;อาหารไก่งวง;มาตรฐานฟาร์ม;การพัฒนาผลิตภัณฑ์;เว็บไซต์ไก่งวงครบุรี
หน่วยงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ปีที่เผยแพร่ 2565
คำอธิบาย "ไก่งวง" นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคต และมีโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยง เพราะตลาดยังต้องการสูงทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงในจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะในเขตอำเภอครบุรี มีกลุ่มหลักคือ “วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงอำเภอครบุรี” มีแนวโน้มการเลี้ยงไก่งวงเพื่อเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น แต่จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าเกษตรกรยังมีปัญหาหลายด้านที่ทำให้ขาดศักยภาพในการผลิตไก่งวงให้ได้ตามมาตรฐาน นอกจากนี้เกษตรกรยังจำเป็นต้องพัฒนาในส่วนอื่น ๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อยกระดับการผลิตไก่งวงขุนให้ได้คุณภาพสูง เพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางการค้าและการขยายตลาดในอนาคต โครงการวิจัยจึงมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมดังต่อไปนี้ คือ 1) การแปรรูปและสร้างผลิตภัณฑ์ไก่งวงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2) การพัฒนาหัวอาหารและสูตรอาหารต้นทุนต่ำสำหรับไก่งวง 3) การพัฒนาระบบการจัดทำฟาร์มเลี้ยงไก่งวงที่ได้มาตรฐาน และ 4) การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อขยายตลาดผ่านเว็บไซต์ โดยมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลและความพร้อมของเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงไก่งวงให้ได้มาตรฐานและเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ ผ่านการอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่าง ๆ ผลการดำเนินงานพบว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ การแปรรูปไก่งวงรมควัน และการแปรรูปลาบไก่งวงสเตอริไลส์พร้อมรับประทานและลาบไก่งวงแช่แข็ง โดยคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการพัฒนาสูตรและทดสอบผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นสำหรับใช้เป็นต้นแบบ และดำเนินการอบรมการแปรรูปให้กับเกษตรกรจำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 35 คน ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรที่มีความสามารถเพื่อฝึกการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความชำนาญมากขึ้น ในส่วนองค์ความรู้ด้านอาหารสัตว์คณะผู้วิจัยได้ทำการพัฒนาสูตรหัวอาหารและอาหารต้นทุนต่ำสำหรับไก่งวงระยะไก่รุ่น-ขุน (อายุ 12 สัปดาห์ – ส่งตลาด) ที่มีปริมาณโปรตีน กรดอะมิโน วิตามิน และแร่ธาตุที่เพียงพอต่อความต้องการของไก่งวง และการพัฒนาอาหารไก่งวงระยะเล็ก (0−12 สัปดาห์) โดยมีการจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอาหารสัตว์จำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 44 คน ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ สามารถผลิตหัวอาหารเพื่อใช้ในฟารม์และจำหน่ายให้กับกลุ่มสมาชิก ซึ่งสามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ประมาณ 5–10% ในสภาวะที่อาหารสำเร็จรูปมีราคาแพงขึ้น กิจกรรมการอบรม “ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management, GFM) และการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับใบรับรองมาตรฐาน” เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเลี้ยงดูไก่งวงให้เหมาะสม รวมถึงการจัดการป้องกันโรคเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 4 ราย อยู่ระหว่างการยื่นขอมาตรฐานฟาร์ม GFM สำหรับการดำเนินงานด้านการตลาดและการวางแผนการตลาด รวมถึงทิศทางในการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงอำเภอครบุรีเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้มีการจัดอบรมจำนวน 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 38 คน ซึ่งในขณะนี้กลุ่มวิสาหกิจฯ มีเว็บไซต์ไก่งวงครบุรี https://khonburiturkey.wordpres.com เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดให้กับกลุ่ม
ข้อมูลเพิ่มเติม https://khonburiturkey.wordpres.com
กลุ่มการนำไปใช้ประโยชน์ ด้านสังคม/ชุมชน
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เอกสารเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง