ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในการผลิตข้าวเพื่อรับมือต่อภัยแล้ง : กรณีศึกษาเทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัญจรัตน์ โจลานันท์ |
เจ้าของผลงานร่วม |
ดร.เกศสุดา สิทธิสันติกุล ,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรารถนา ยศสุข |
คำสำคัญ |
ข้าว;การจัดการน้ำ;ภัยแล้ง;การจัดการความรู้ |
หน่วยงาน |
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาภาคพายัพ เชียงใหม่ |
ปีที่เผยแพร่ |
2559 |
คำอธิบาย |
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์งานวิจัยรวมทั้งค้นหาความรู้ภายในชุมชน ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ และแปลงให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ของกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยผสมผสานวิธีวิจัยเชิงคุณภาพหลากหลายวิธี (สำรวจ สัมภาษณ์ การประชุมกลุ่มย่อย) กับกลุ่มเกษตรกรตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ภัยแล้งในตำบลออนใต้มีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเกษตรกรและคนในชุมชนออนใต้ ทั้งด้านการประกอบอาชีพเกษตรกรรม (รวมทั้งการผลิตข้าว) การขาดแคลนแหล่งน้ำต้นทุน (ผิวดินและใต้ดิน) เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค รวมทั้งสร้างความขัดแย้งทางสังคม (การแย่งชิงน้ำ) นอกจากนี้ยังค้นพบกระบวนการสำคัญในการจัดการความรู้และการพัฒนาคู่มือการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในการผลิตข้าวเพื่อรับมือต่อภัยแล้งให้แก่ชุมชนเทศบาลตำบลออนใต้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไข 2) การค้นหาความรู้ที่ต้องการและการกำหนดทางเลือก 3) การกลั่นกรองและคัดเลือกความรู้ 4) การวางแผนปฏิบัติการ และ 5) การวางแผนติดตามและประเมินผล ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีที่เกี่ยวข้องและการนำส่งความรู้ระหว่างกัน ผ่านการแบ่งปันความรู้ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การระดมสมอง การวิพากษ์วิจารณ์และการเรียนรู้ร่วมกัน
ผลของการจัดกระบวนการ ทำให้ค้นพบทางเลือกการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการแหล่งน้ำและระบบส่งจ่ายน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นระดับเร่งด่วนปานกลางถึงมาก 4 กิจกรรม ได้แก่ การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ/ลำเหมือง/สระน้ำสาธารณะประจำหมู่บ้าน การใช้ท่อจ่ายน้ำ PE การทดแทนลำเหมืองดิน/คอนกรีต การจัดทำสมดุลความต้องการใช้น้ำ/ปริมาณน้ำ/พื้นที่รับน้ำ และการทำฝายแม้วหรือฝายชะลอน้ำ นอกจากนี้ยังพบทางเลือกการลดปริมาณการใช้น้ำในการปลูกข้าวและการเกษตรอื่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความจำเป็นระดับเร่งด่วนมาก 4 กิจกรรม ได้แก่ การปลูกข้าวอินทรีย์ การลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย การเปลี่ยนรอบเวรการใช้น้ำทุก 15 วันในช่วงปลูกข้าวนาปี และการใช้ปุ๋ยชีวภาพหรือสารชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี |
สาขาการวิจัย |
|