ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การวิเคราะห์แนวทางสนับสนุนการทำงานของผู้หญิงในสังคมสูงวัย
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ลี้ตระกูล
คำสำคัญ ผู้หญิงวัยทำงาน สังคมสูงวัย นโยบายครอบครัว;Working-age Women , Ageing Society , Family Support Policy
หน่วยงาน โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ปีที่เผยแพร่ 2559
คำอธิบาย การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยไปสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้แรงงานหญิงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในบริบทที่ประชากรวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) วิเคราะห์สถานการณ์การทำงานของผู้หญิงในและนอกตลาดแรงงาน 2) วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำงานและชั่วโมงการทำงานของผู้หญิง และ 3) สังเคราะห์แนวทางในการสนับสนุนการทำงานของผู้หญิงในสังคมสูงวัย โดยเน้นการศึกษาไปที่ กลุ่มผู้หญิงไทยอายุ 25-54 ปี หรือ “ผู้หญิงวัย prime age” โดยรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจการทำงานของประชากรไทย พ.ศ. 2527-2557 ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2556 และข้อมูลจากการสำรวจการใช้เวลาของประชากรไทย พ.ศ. 2552 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงไทยในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนของผู้หญิงวัยทำงานที่มีสถานะแม่บ้านเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ ในขณะเดียวกันเมื่อวิเคราะห์ตามรุ่นปีเกิด พบว่า สัดส่วนของผู้หญิงวัยทำงานรุ่นที่อายุมากกว่ามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากกว่าผู้หญิงวัยทำงานรุ่นใหม่ และสัดส่วนของผู้หญิงวัยทำงานรุ่นใหม่เป็นแม่บ้านเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานและชั่วโมงการทำงานของผู้หญิงที่สำคัญ คือ ปัจจัยด้านครอบครัว จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภาระการดูแลรับผิดชอบครอบครัวที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้การมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงลดลง ดังนั้นภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการทำงานของผู้หญิงในสังคมสูงวัยโดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานในตลาดแรงงานและความรับผิดชอบในครอบครัวมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์นโยบายสนับสนุนครอบครัวของแรงงานไทยเพื่อเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง พบว่า ควรเน้นที่มาตรการด้านเวลา และบริการ เพื่อทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานในตลาดแรงงาน ควบคู่กับการดูแลบุตรและพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ เช่น การให้สิทธิ์การลาเพื่อดูแลสมาชิกในครัวเรือนที่มีภาวะพึ่งพา การส่งเสริมการทำงานที่มีความยืดหยุ่นในด้านเวลาและสถานที่ทำงานในกรณีที่ต้องดูแลสมาชิกในครัวเรือนที่มีภาระพึ่งพา การส่งเสริมบทบาทของนายจ้างในการจัดบริการพื้นฐานสำหรับผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตร การสร้างมาตรฐานการให้บริการดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการ นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนมาตรการด้านสถาบัน เช่น การส่งเสริมให้เกิดการแบ่งเบาภาระในการดูแลบุตรและผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาของผู้ชาย รวมถึงการส่งเสริมค่านิยมการอยู่ร่วมกันของคน 3 รุ่น
สาขาการวิจัย
  • สังคมศาสตร์
Creative Commons License


การวิเคราะห์แนวทางสนับสนุนการทำงานของผู้หญิงในสังคมสูงวัย is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Thailand License.


ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง