ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
การพัฒนาชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนต้นทุนต่ำเพื่อสนับสนุนความเข้าใจมโนมติวิทยาศาสตร์และการปรับแก้มโนมติสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ( DEVELOPMENT OF SMALL-SCALE AND LOW-COST CHEMISTRY EXPERIMENTAL (SLCE) KITS TO PROMOTE SCIENTIFIC CONCEPTUAL UNDERST |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
ศักดิ์ศรี สุภาษร |
เจ้าของผลงานร่วม |
กานต์ตะรัตน์ วุฒิเสลา ,
สุภาพ ตาเมือง |
คำสำคัญ |
การทดลองแบบมาตรฐาน;การทดลองแบบย่อส่วน;การเปลี่ยนแปลงมโนมติ;การทดลองแบบต้นทุนต่ำ;ความเข้าใจมโนมติ;Standard experiment;small-scale experiment;low-cost experiment;conceptual understanding;conceptual change |
หน่วยงาน |
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
ปีที่เผยแพร่ |
2561 |
คำอธิบาย |
โรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนมากในประเทศไทยจะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการสอนวิชาเคมีในส่วนของการทดลองให้กับนักเรียน เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนมากเกินไป มีอุปกรณ์การทดลองอย่างจำกัดและอาจจะจัดการทดลองได้เพียง 2-3 กลุ่ม เท่านั้น ทำให้ครูต้องสอนโดยการสาธิตการทดลองหรือโดยการอธิบายแทนการทดลอง ส่งผลให้นักเรียนขาดประสบการณ์ในการทดลองเคมี มีการพัฒนาทักษะการทดลองและทักษะวิทยาศาสตร์อื่นๆ ได้ไม่เท่าที่ควร การดำเนินการของโครงการวิจัยนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดข้อจำกัดข้างต้น กล่าวคือ งานวิจัยนี้ได้มีการพัฒนาชุดการทดลองเคมีแบบมาตรฐาน จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ สมดุลเคมี และอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจหลายการทดลอง จากนั้นได้มีการย่อส่วนสารเคมีที่ใช้ลงไปอย่างน้อย 12 – 16 เท่า โดยยังคงรายละเอียดของเนื้อหาในการทดลองเหมือนในการทดลองมาตรฐาน และประยุกต์ใช้อุปกรณ์การทดลองที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น เสี่ยงต่อการแตกหรือชำรุดน้อยลง แต่ยังสามารถใช้งานซ้ำได้เหมือนอุปกรณ์มาตรฐาน โดยชุดการทดลองแบบย่อส่วน เรื่อง สมดุลเคมี และอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีต้นทุนของอุปกรณ์ทั้งหมดคิดเป็น 214 และ 263 บาท ซึ่งประหยัดกว่าอุปกรณ์ในชุดการทดลองมาตรฐานไม่น้อยกว่า 4 – 5 เท่า
จากการศึกษาผลจากการนำชุดการทดลองเคมีทั้งสองเรื่องไปจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยให้กลุ่มควบคุมเรียนด้วยชุดทดลองเคมีแบบมาตรฐาน และกลุ่มทดลองเรียนด้วยชุดการทดลองแบบย่อส่วน พบว่า นักเรียนในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองมีความเข้าใจมโนมติ การปรับเปลี่ยนกลุ่มความเข้าใจมโนมติ และเจตคติต่อการเรียนวิชาเคมีไปในทางที่ดีขึ้นเหมือนกัน จึงกล่าวได้ว่า ชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเทียบเท่าชุดการทดลองแบบมาตรฐาน
ผลการวิจัยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้ชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการเพิ่มประสบการณ์ภาคการทดลองเคมีให้นักเรียน และเป็นการเพิ่มสัดส่วนของนักเรียนที่ได้สัมผัสการทดลองโดยตรงมากขึ้น จากที่เคยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ทดลองที่ครูสาธิต หรือจากทำการทดลองกลุ่มละหลายคนมากเกินไป ทั้งนี้ ครูสามารถศึกษาคู่มือชุดการทดลองให้เข้าใจและผลิตชุดการทดลองย่อส่วนเพิ่มเติมเองให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนได้ เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีสารเคมีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ยังขาดอุปกรณ์ในการทดลองเท่านั้น ดังนั้น การประยุกต์ใช้อุปกรณ์เหมือนในการทดลองย่อส่วนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำตามได้ไม่ยาก และมีวิธีการทดลองที่ง่ายขึ้นและประหยัดเวลาในการเตรียมและในการทดลอง นอกจากนี้ การทดลองแบบย่อส่วนก็เป็นทางเลือกที่เป็นไปตามหลักการของเคมีสีเขียว หรือ Green Chemistry นั่นคือ การลดปริมาณสารเคมีที่ใช้ในการทดลอง ใช้สารเคมีที่ไม่อันตรายต่อตัวนักเรียนและต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณของเสียที่เกิดจากการทดลอง และใช้งานอุปกรณ์ซ้ำได้ ทั้งนี้หลังการใช้งานชุดการทดลองเคมีแบบย่อส่วนเสร็จแล้วต้องล้างอุปกรณ์และทำให้แห้งก่อนเก็บเข้ากล่องชุดการทดลองตามเดิม |
ข้อมูลเพิ่มเติม |
http://chem.sci.ubu.ac.th/index.php/2013-11-26-02-35-27/-assistant-professor/386-2008-08-11-05-28-22
|
สาขาการวิจัย |
|