ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาชุมชนด้วยโครงข่ายก๊าซชีวภาพ กรณีศึกษา : ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง นางสาวภูษิตา ไชยสมบัติ
เจ้าของผลงานร่วม ดร.หทัยทิพย์ สินธุยา, ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์
คำสำคัญ โครงข่ายก๊าซชีวภาพ, เศรษฐศาสตร์
หน่วยงาน วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย
ปีที่เผยแพร่ 2561
คำอธิบาย ผลการศึกษาและวิจัยการประเมินศักยภาพทางด้านพลังงานทดแทนของชุมชน พบว่า ชุมชนตำบลแม่ทาเป็นชุมชนเกษตรกรรม เป็นชุมชนขนาดเล็ก จำนวน 1,500 ครัวเรือน มีการทำฟาร์มปศุสัตว์จำนวนทั้งหมด 128 ฟาร์ม ประกอบไปด้วยฟาร์มโคนม ฟาร์มโคเนื้อ และฟาร์มหมู มีจำนวนสัตว์ทั้งหมด 5,152 ตัว ซึ่งสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 2,100 ลบ.ม. ต่อวัน โดยเทียบได้กับก๊าซหุงต้ม 966 กก. ต่อวัน ดังนั้นศักยภาพด้านพลังงานของชุมชนตำบลแม่ทาเหมาะสมต่อการผลิตก๊าซชีวภาพมากที่สุด ผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงข่ายก๊าซชีวภาพโดยวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเทคนิค พบว่า ชุมชนตำบลแม่ทามีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลโคนม ขนาด 3,000 ลบ.ม. ในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อวิเคราะห์โครงข่ายก๊าซชีวภาพของชุมชน พบว่า ชุมชนตำบลแม่ทามีการตั้งบ้านเรือนแบบหนาแน่นในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน จำนวน 1,500 ครัวเรือนในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และมีฟาร์มปศุสัตว์อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ชุมชน จึงมีความเหมาะสมในการดำเนินการทางด้านเทคนิค ผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงข่ายก๊าซชีวภาพ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าภาครัฐควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนงบลงทุนระบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 เพื่อให้เกิดการซื้อขายก๊าซชีวภาพเทียบเท่ากับการซื้อขายก๊าซหุงต้ม LPG ในราคา 28 บาทต่อกิโลกรัมตามราคาซื้อขายก๊าซหุงต้ม LPG ในท้องตลาด จึงจะมีความเหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ ผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงข่ายก๊าซชีวภาพ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านการดำเนินการของชุมชน พบว่า ชุมชนแม่ทา เป็นชุมชนเข้มแข็งและมีความพร้อมในการดำเนินโครงการ และมีการจัดตั้ง สหกรณ์การเกษตรแม่ทายั่งยืน จำกัด เพื่อพัฒนาชุมชนในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน รูปแบบการเกษตรที่มีความเหมาะสม รวมถึงการเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนตำบลแม่ทาที่เน้นกระบวนการหนุนเสริมต่อยอดความรู้และพัฒนาความคิดของชุมชนแม่ทาไปสู่การพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และจากการวิเคราะห์แบบสอบถามความคิดเห็นการใช้ระบบโครงข่ายก๊าซชีวภาพของชุมชนตำบลแม่ทา พบว่า ชุมชนเห็นด้วยกับระบบพลังงานทดแทนสามารถสร้างประโยชน์ให้ชุมชนได้ ร้อยละ 81.21 หากมีการนำระบบโครงข่ายก๊าซชีวภาพมาใช้กับชุมชน ชุมชนเห็นด้วย ร้อยละ 84.46 และชุมชนมีความต้องการการสนับสนุนงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ร้อยละ 84.64 ดังนั้น ชุมชนแม่ทาจึงเป็นชุมชนที่มีความพร้อมและความเหมาะสมด้านการดำเนินการ การวิเคราะห์และสร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนด้วยโครงข่ายก๊าซชีวภาพ จะดำเนินการโดยใช้รูปแบบและกลไกของสหกรณ์ชุมชน ทำให้เกิดการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากการขนส่งก๊าซหุงต้ม LPG และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระดับชุมชน
สาขาการวิจัย
  • สังคมศาสตร์
Creative Commons License


รูปแบบการพัฒนาชุมชนด้วยโครงข่ายก๊าซชีวภาพ กรณีศึกษา : ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ is licensed under a Creative Commons Attribution 3.0 Thailand License.


ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง