ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง ศักยภาพของแบคทีเรียทนเค็มที่คัดแยกได้จากดินในการเป็นแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญของพืช
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง สุกัญญา เทพธีร์
เจ้าของผลงานร่วม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาวิตร ตระกูลน่าเลื่อมใส
คำสำคัญ แบคทีเรียทนเค็ม;แบคทีเรียส่งเสริมการเจริญของพืช;แบคทีเรียปฏิปักษ์
หน่วยงาน ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีที่เผยแพร่ 2562
คำอธิบาย แบคทีเรียทนเค็มสามารถปรับตัวในสภาพแวดล้อมในดินแห้งแล้งได้ดี หากมีคุณสมบัติส่งเสริมการเจริญของพืชด้วย จึงมีความน่าสนใจที่จะนำมาใช้ประโยชน์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกแบคทีเรียทนเค็มที่มีคุณสมบัติส่งเสริมการเจริญของพืชและทดสอบความสามารถในการเป็นแบคทีเรียปฏิปักษ์ โดยรวบรวมแบคทีเรียทนเค็มจำนวน 245 ไอโซเลท ที่คัดแยกจากโครงการวิจัยก่อนหน้าจากดิน 2 แหล่ง ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกันได้แก่ ดินด่างบริเวณสถานีวิจัยกาญจนบุรีซึ่งเป็นดินแห้งแล้งขาดความอุดมสมบูรณ์และดินพื้นที่สีเขียวบางกระเจ้า นำมาทดสอบคุณสมบัติในการเป็นแบคทีเรียปฏิปักษ์ด้วยวิธี dual culture พบแบคทีเรียทนเค็มจำนวน 36 ไอโซเลท (14.7 เปอร์เซ็นต์) เป็นแบคทีเรียปฏิปักษ์ต่อราสาเหตุโรคพืชในดิน 3 ชนิด ได้แก่ Colletrotrichum gloeosporioides DOAC2201, Sclerotium rolfsii DOAC2357 และ Fusarium oxysporum DOAC1716 และไอโซเลท P5-29, P9-21 และ P7-18 ยับยั้งราแต่ละชนิดได้ดีที่สุด มีค่าการยับยั้งเท่ากับ 69.3 77.9 และ 63.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ลำดับเบสของยีน 16S rRNA (1465 คู่เบส) ระบุว่าไอโซเลท P5-29 และ P9-21 เป็นแบคทีเรีย Bacillus subtilis โดยมีความเหมือนของลำดับเบสเท่ากับ 99.80 และ 99.87 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนไอโซเลท P7-18 ระบุเป็น Bacillus tequilensis (ความเหมือน 99.93 เปอร์เซ็นต์) การศึกษาลักษณะจำเพาะของแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่คัดเลือกจำนวน 22 ไอโซเลท พบว่าทุกไอโซเลทสร้างเอนไซม์เอ็นโดกลูคาเนสและ โปรติเอสรวมทั้งสร้างไซเดอโรฟอร์ ผลการทดสอบสารออกฤทธิ์ประเภทสารน้ำมีผลต่อการยับยั้งรา Colletotrichum gloeosporioides DOAC2201 และรา Fusarium oxysporum DOAC1716 แต่ไม่ยับยั้งรา Sclerotium rolfsii DOAC2357 โดยวิธี Disc diffusion ส่วนสารประกอบอินทรีย์ระเหยมีผลต่อการยับยั้งราทั้ง 3 ชนิด โดยเฉพาะยับยั้งรา Sclerotium rolfsii DOAC2357 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สารระเหยที่พบ คือ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ จากผลการทดลองพบแบคทีเรียปฏิปักษ์ มีความสามารถในการสร้างฮอร์โมนพืช Indole-3-acetic และมีคุณสมบัติในการละลายฟอสเฟตด้วย ผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงแบคทีเรียทนเค็ม กลุ่ม Bacillus ที่มีความหลากหลายที่พบในดิน เป็นกลุ่มทรัพยากรจุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรียปฏิปักษ์ต่อราก่อโรคในดิน ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเพื่อการประยุกต์ใช้ควบคุมโรคราก่อโรคพืชต่อไป
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์