ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวมะละกอ และมะม่วงคุณภาพสำหรับเกษตรกรจังหวัดสระแก้วและพื้นที่ภูมิภาค
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล
เจ้าของผลงานร่วม นางสาวยุพิน อ่อนศิริ
คำสำคัญ มะม่วง;มะละกอ;เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
หน่วยงาน ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
ปีที่เผยแพร่ 2562
คำอธิบาย ปี 2559 ประเทศไทยผลิตมะม่วงได้มากถึง 2.56 ล้านตัน แต่ใช้บริโภคในประเทศมากถึง 2.49 ล้านตัน หรือ 97.2% และส่งออกเพียง 71,088 ตัน หรือ 2.8% ของผลผลิตรวม เท่านั้น โดยแยกเป็นผลคุณภาพดีสำหรับส่งออกผลสด 33,347 ตัน หรือเพียง 1.3% ของผลผลิตรวม คิดเป็นมูลค่า 1,223 ล้านบาท และแปรรูป 37,741 ตัน หรือ 1.5% ของผลผลิตรวม (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560) โดยรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับจากการขายผลผลิตคุณภาพส่งออกจะมากกว่าผลผลิตคุณภาพคละเพื่อส่งโรงงานหรือขายในประเทศเฉลี่ย 2 เท่า ดังนั้นหากเราสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีกเพียง 1.3% ของผลผลิตทั้งประเทศ เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศได้อีกเท่าตัว หรือกว่า 1,200 ล้านบาท สำหรับการผลิตมะละกอก็เช่นเดียวกันการผลิตส่วนใหญ่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่มีการส่งออกต่างประเทศเพียงไม่กี่บริษัท อาทิ บริษัท ซี โอ สวนสระแก้ว จำกัด ซึ่งมีพื้นที่การผลิตส่วนใหญ่ใน จ.สระแก้ว ดังนั้นหากมีการส่งเสริมการผลิตและการจัดการที่ดีทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการผลิตและส่งออกพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพจักสามารถขยายปริมาณการส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้น ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวมะละกอและมะม่วงคุณภาพสำหรับเกษตรกรจังหวัดสระแก้วและพื้นที่ภูมิภาค” ภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์ โดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตรที่ 1 เรื่อง “การพัฒนาวิทยากรในพื้นที่” ระหว่างวันที่ 19 – 23 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว มีตัวแทนชุมชน ผู้นำเกษตรกร และเกษตรกรรุ่นใหม่ใน จ.สระแก้ว และพื้นที่ภูมิภาค เข้าร่วมอบรม จำนวน 39 คน มีการเสวนาและจัดนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ กับดักมด ซึ่งช่วยควบคุมการระบาดของมดและเพลี้ยพาหะเชื้อไวรัสในสวนผลไม้ เทคนิคการบ่มผลมะม่วงและมะละกอต้นทุนต่ำให้สุกผิวสวยด้วยแก๊สเอทิลีน การควบคุมโรคและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวมะละกอ การยืดอายุเก็บรักษาผลมะม่วงด้วยถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สารเคลือบเนื้อผลไม้ และสารเคลือบผิวที่สกัดจากเปลือกมะพร้าวอ่อนซึ่งเป็นของเสียจากอุตสาหกรรม และการแสดงผลผลิตมะม่วงทับทิมทอง (มะม่วงพันธุ์ยู่เหวิน) มะละกอพันธุ์ซันไรส์ และผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้สดในบรรจุภัณฑ์บริโภคได้ Juice Ball ของ บริษัท ซี โอ สวนสระแก้ว ชุดตรวจสอบดินอย่างง่าย และเทคโนโลยีปุ๋ยสั่งตัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วให้ความสำคัญมาร่วมเปิดการอบรมและเยี่ยมชมนิทรรศการ ผู้เข้าอบรมมีความพึงพอใจการฝึกอบรมในภาพรวม ระดับดีมาก (คะแนน 4.80 จาก 5 คะแนน) สำหรับหลักสูตรที่ 2 เรื่อง “การผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก” จัดระหว่างวันที่ 5 – 8 มิถุนายน 2561 มีเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงเข้าร่วมอบรม จำนวน 80 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 70 คน มีความพึงพอใจในภาพรวม ระดับดีมาก (คะแนน 4.65) และหลักสูตรที่ 3 เรื่อง “การผลิตมะละกอคุณภาพเพื่อการค้ายุคใหม่” จัดระหว่างวันที่ 24 – 26 ก.ค. 2561 มีเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอสนใจสมัครเข้าร่วมจำนวนมากถึง 74 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 50 คน ผู้เข้าร่วมอบรมพึงพอใจระดับดีมาก (คะแนน 4.73) ภายหลังสิ้นสุดการอบรม ผู้จัดฝึกอบรมได้รวบรวมเกษตรกรที่มีความประสงค์เข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตและแปรรูป ผัก ผลไม้พรีเมี่ยม อำเภอวังสมบูรณ์ ยื่นขอจดทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอวังสมบูรณ์ โดยมุ่งเน้นการผลิตและแปรรูป ผัก ผลไม้คุณภาพและปลอดภัยภายใต้คำแนะนำตามแนวทางวิชาการที่ให้ การรวมตัวของเกษตรกรในการประกอบธุรกิจในระดับชุมชนจะทำให้มีความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจชุมชน ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตในราคาถูกเนื่องจากซื้อพร้อมกันในปริมาณมาก และใช้ปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามคำแนะนำที่ได้เรียนรู้ ทำให้ใช้ปัจจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง