ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรกรแม่นยำสำหรับสวนส้มโอทับทิมสยาม
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี
เจ้าของผลงานร่วม รองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา เจริญสุธาสินี
คำสำคัญ เทคโนโลยีเกษตรกรแม่นยำ;ส้มโอทับทิมสยาม
หน่วยงาน สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ปีที่เผยแพร่ 2562
คำอธิบาย ข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติที่ได้ทำการติดตั้งไว้ในสวนส้มโอทับทิมสยามตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ที่ติดตั้งทั้งหมด 5 สวน แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลที่ค่อนข้างชัดเจน ในการศึกษานี้จะพิจารณาอุณหภูมิอากาศ, ปริมาณฝน, อุณหภูมิดิน, และความชื้นดิน โดยภาพรวมจากกราฟอุณหภูมิอากาศ จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 สวนจะเห็นได้ว่าอุณหภูมิอากาศมีค่าอยู่ที่ประมาณ 24°C ถึง 36°C โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ในช่วง 25°C ถึง 32°C โดยภาพรวมแล้วอุณหภูมิอากาศจะมีค่าสูงในช่วงฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายนถึงมิถุนายน มีค่าอุณหภูมิสูงสุดที่เดือนพฤษภาคม และลดลงต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม นอกจากนี้จะเห็นว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี (ตรงกับปลายฤดูหนาวและต้นฤดูร้อน) จะพบว่าช่วงอุณหภูมิที่อยู่ต่ำกว่าอุณหภูมิสูงสุดเล็กน้อย ซึ่งค่าความชื้นที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมจะมีค่าสูงเช่นกัน เนื่องมาจากสภาพอากาศที่บ้านเราเป็นเขตอากาศร้อนชื้น และสวนโครงการพระราชดำริจะมีอากาศที่ร้อนมากๆในช่วงเดือนเมษายนซึ่งแตกต่างจาก 4 สวน เพราะที่ตั้งของสวนโครงการพระราชดำริอยู่ติดคลองปากพนังซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล ทำให้ผลกระทบที่ได้รับจากสภาพอากาศค่อนข้างจะได้รับผลมากกว่าสวนอื่นๆ เนื่องจากได้รับอิทธิพลตามท้องถิ่น ข้อมูลอุณหภูมิดินที่ความลึกต่างๆในสวนส้มโอทับทิมสยามยังบ่งบอกถึงผลกระทบจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคใต้เกิดภัยแล้งเนื่องจากฝนตกน้อยกว่าปกติ อุณหภูมิดินในสวนส้มโอทับทิมสยามช่วงที่ผ่านมาก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูร้อนของปีก่อนหน้าถึงประมาณ 2°C นอกจากนี้ยังพบว่าที่ระดับความลึก 45 cm ซึ่งมีความผันผวนของอุณหภูมิน้อย ก็กลับมีความผันผวนเพิ่มขึ้น ความชื้นดินที่ใช้ในการศึกษานี้จะใช่ค่าแรงดันราก หรือแรงดันที่รากพืชต้องใช้ในการดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากดินเข้าสู่ราก หากแรงดันรากมีค่า 0 cb หมายความว่าดินเปียกคือรากไม่ต้องใช้พลังงานเพื่อสร้างแรงดันในการดูดซับน้ำเข้าสู่ราก หากมีค่ามากกว่า 0 cb ขึ้นไปหมายความว่าดินชื้นและแห้งมากขึ้น ทำให้รากพืชต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการดูดซับน้ำ แรงดันรากสูงสุดที่อุปกรณ์เซนเซอร์สามารถวัดได้อยู่ที่ 200 cb หากเกินกว่านั้นอุปกรณ์เซนเซอร์จะตัดค่าไว้ที่ 200 cb ในกรณีที่ฝนตกหรือมีการรดน้ำที่ผิวดิน น้ำที่ซึมลงใต้ดินจะทำให้ดินชื้น หรือในบางครั้งปริมาณน้ำมีมากจนทำให้ดินเปียก แรงดันรากที่มีค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆก่อนฝนตกหรือก่อนการรดน้ำก็จะมีค่าลดลงอย่างรวดเร็ว หลังฝนตกหรือหลังการรดน้ำปริมาณน้ำใต้ดินจะเริ่มลดลงจากการระเหยสู่อากาศและซึมลงไปในชั้นดินที่ลึกลงไป แต่หากมีเกิดฝนตกหรือมีการรดน้ำเป็นระยะแรงดันรากก็จะยังคงมีค่าเป็น 0 cb อยู่เสมอ เมื่อถึงฤดูร้อนความชื้นดินที่ความลึก 15 cm จะลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ความลึก 30 cm ยังคงวัดค่าความชื้นได้ ในช่วงเวลานี้ในบางครั้งดินมีความชื้นต่ำมากจนเกษตรกรต้องคอยรดน้ำที่ผิวดินและควบคุมระดับน้ำในร่องน้ำเพื่อไม่ใช่ต้นส้มโอทับทิมสยามขาดน้ำ จนเมื่อเข้าฤดูฝนปริมาณฝนที่ตกเป็นระยะจะทำให้ดินชื้นมากขึ้นจนถึงเปียกในช่วงไตรมาสที่สามของปี จากนั้นฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องจะทำให้ดินเปียกไปจนถึงปลายฤดูหนาวและต้นฤดูร้อนในปีถัดไป ในกรณีของสวนส้มโอทับทิมสยาม การรักษาความชื้นดินจะใช้สองวิธีได้แก่การควบคุมระดับน้ำในร่องน้ำให้มีระดับสม่ำเสมอ น้ำในร่องน้ำรอบข้างจะซึมเข้าสู่ดินในแปลงที่ปลูกต้นส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรากของต้นส้มโอทับทิมสยามจะอยู่ลึกจากผิวดินไม่เกินประมาณ 45 cm ดังนั้นก่อนการเก็บผลผลิตเกษตรกรจะต้องรักษาระดับน้ำในร่องน้ำให้ดินที่ระดับความลึก 45 cm เปียกอยู่เสมอ (คือแรงดันรากที่ความลึก 45 cm มีค่า 0 cb) เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาเก็บผลผลิตจึงลดระดับน้ำลงให้ดินที่ระดับ 45 cm เริ่มแห้งเพื่อให้ส้มโอทับทิมสยามขาดน้ำและมีความหวานที่เพิ่มขึ้น (แต่หากในช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกจนไม่สามารถทำให้ดินแห้งได้ ส้มโอทับทิมสยามที่เก็บได้ก็จะไม่มีความหวานตามที่เกษตรกรต้องการ) ทั้งนี้เทคนิคที่ใช้ในการควบคุมน้ำของแต่ละสวนจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่ความชำนาญของสวนแต่ละสวนและรูปแบบของการยกร่อง, ลักษณะการปลูกต้นส้มโอทับทิมสยาม (ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าหากมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องในอนาคต จำเป็นต้องทำการติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์วัดระดับน้ำในร่องน้ำเพื่อประกอบการวิเคราะห์ความชื้นดิน)
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง