ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
การสร้างศูนย์เรียนรู้และฟาร์มสาธิตการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลขนาดใหญ่ต้นทุนต่ำด้วยเทคโนโลยีไบโอฟลอค |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ เลิศสุทธิชวาล |
คำสำคัญ |
ฟาร์มสาธิต;ลูกพันธุ์ปลานิล;ไบโอฟลอค |
หน่วยงาน |
สาขาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย |
ปีที่เผยแพร่ |
2562 |
คำอธิบาย |
การเลี้ยงปลานิลระบบพัฒนาในภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และ สุราษฎร์ธานี มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านกำลังการผลิต ปริมาณฟาร์มและความความต้องการในการบริโภคของประชาชนทั่วไป โดยปลานิลเป็นที่ต้องการของตลาดจะต้องมีน้ำหนักตัวระหว่าง 800-1,200 กรัม ที่สำคัญจะต้องไม่มีกลิ่นโคลน ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีจะเป็นรูปแบบการเลี้ยงปลานิลแบบพัฒนาในกระชังมากกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน เนื่องจากสามารถควบคุมกลิ่นโคลนในเนื้อปลาได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลานิลแบบพัฒนาในกระชังจำเป็นที่ต้องใช้ลูกพันธุ์ปลานิลขนาดใหญ่ (30 กรัม/ตัว) ซึ่งมีปัญหาการขาดแคลนอยู่บ่อยครั้ง ในภาคการผลิตปลานิลของเกษตรกรในภาคใต้ ลูกพันธุ์ปลานิลที่จำหน่ายในท้องตลาดจะสามารถแบ่งที่มาออกได้เป็น 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ลูกพันธุ์ปลานิลจิตรลดา 3 จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดประจำจังหวัดต่างๆ โดยส่วนใหญ่ลูกพันธุ์ปลานิลจากกรมประมงจะเป็นลูกพันธุ์ปลาขนาดเล็ก ความยาวตัวปลาไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร (ปลาใบมะขาม) และมีปริมาณส่วนแบ่งตลาดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลูกพันธุ์ปลาส่วนใหญ่ในตลาดจะเป็นลูกพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากบริษัทต่างๆ ซึ่งจะมีลูกพันธุ์ทั้งขนาดเล็ก (ปลาใบมะขาม) และขนาดใหญ่ (ปลาขนาด 3 นิ้ว) ซึ่งปลานิลจากบริษัททั้งหมดจะมีแหล่งเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ จึงทำให้เกิดปัญหาด้านการขนส่ง ราคา และการขาดแคลนลูกพันธุ์ปลาในบางช่วงของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกันยายน - เดือนพฤศจิกายน เนื่องจากอุณหภูมิของแหล่งผลิตมีอุณหภูมิต่ำปลานิลออกไข่ได้น้อยและลูกพันธุ์ที่ผลิตได้มีสุขภาพไม่แข็งแรง และในช่วงเดือนพฤษภาคม - เดือนกรกฎาคม เนื่องจากมีความต้องการลูกพันธุ์ปลานิลสูง จากรูปแบบการเลี้ยงปลานิลของเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีการเลี้ยงในกระชังเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดต้องการลูกพันธุ์ปลานิลขนาดใหญ่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในการเลี้ยงลูกพันธุ์ปลานิลเพื่อให้ได้ขนาด 30 กรัม/ตัว นั้นเกษตรกรนิยมนำลูกปลานิลขนาดเล็กมาเลี้ยง (ชำ) ในบ่อดินให้ได้ลูกปลาตามขนาดที่ต้องการ และใช้ระยะเวลาในการชำระหว่าง 50-70 วัน ซึ่งวิธีการนี้จำเป็นจะต้องใช้แรงงานจำนวนมากและผลผลิตลูกปลาที่ได้มีการสูญเสียจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะขั้นตอนในการจับ ซึ่งพบอัตราการตายของลูกปลาระหว่าง 25-60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกษตรกรต้องซื้อลูกพันธุ์ปลาขนาดใหญ่ในราคาที่สูง และเกษตรกรผู้เลี้ยงลูกปลาขนาดใหญ่เองก็ไม่สามารถทำกำไรได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การขาดแคลน ลูกพันธุ์ปลานิลขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งในการขยายตัวของการผลิตปลานิล ดังนั้น คณะผู้วิจัยและคณาจารย์ สาขาประมง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งทำโครงการ การประยุกต์ใช้แหล่งคาร์บอนต้นทุนต่ำในการผลิต Bio-floc เพื่อการผลิตปลาน้ำจืดผสมผสานเชิงธุรกิจ และได้นำผลการศึกษาส่วนหนึ่งมาประยุกต์และปรับปรุงวิธีการชำลูกพันธุ์ปลานิลขนาดใหญ่ในรูปแบบกระชังในบ่อดินรวมถึงส่งเสริมเทคโนโลยีในการผลิตอาหารลูกปลานิลที่มีคุณภาพสูงและเกษตรกรสามารถผลิตได้เองในฟาร์ม รวมถึงเทคโนโลยีด้านการจัดการฟาร์มและควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรและลดปัญหาการขาดแคลนลูกพันธุ์ปลานิลขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ |
สาขาการวิจัย |
|