ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
การพัฒนาสิ่งแวดล้อมบนฐานรากทรัพยากรของชุมชนบ้านป่าสักงาม ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
วันเพ็ญ เจริญตระกูลปีติ |
เจ้าของผลงานร่วม |
ชนิดา สุวรรณประสิทธิ์ ,
นิกร มหาวัน ,
พรทิพย์ จันทร์ราช ,
วินิจ ผาเจริญ ,
ธวัชชัย มานิตย์ ,
มณเฑียร บุญช้างเผือก ,
คณิต ธนูธรรมเจริญ |
คำสำคัญ |
ทุนชุมชน;แผนชุมชน;ฝายชะลอน้ำ;การออกแบบภูมิทัศน์;การจัดการฐานข้อมูล;บ้านป่าสักงาม;ลวงเหนือ;ดอยสะเก็ด |
หน่วยงาน |
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลขที่ 239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 |
ปีที่เผยแพร่ |
2563 |
คำอธิบาย |
การพัฒนาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชุมชนแต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการพัฒนา คือ ในทางปฏิบัติไม่สามารถกระจายผลการพัฒนาไปสู่คนทุกคนในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ภายใต้กรอบการพัฒนาต้องการความเข้าใจร่วมกันและการกำหนดทิศทางและเป้าหมายในกระบวนการพัฒนาที่ชัดเจนว่าต้องการพัฒนาเพื่อใคร ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน จึงมีเป้าหมายเพื่อความมีสุขภาพที่ดีของชุมชน ภายใต้การมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ มีองค์ความรู้และตัวอย่างที่ดีในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และฐานข้อมูลเพื่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน การพัฒนาสิ่งแวดล้อมบนฐานรากทรัพยากรของชุมชน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของโครงการ
วิธีการดำเนินงานผ่านกิจกรรมดังนี้ (i) กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพการซับน้ำของป่าชุมชนด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำโดยเริ่มจากการรวบรวมตำแหน่งฝายชะลอน้ำและกำหนดจุดการสร้างฝายชะลอน้ำแห่งใหม่แบบมีส่วนร่วม (ii) กิจกรรมการพัฒนาชุมชนที่สร้างภูมิคุ้มกันวิถีเกษตรกรรมชุมชน (iii) กิจกรรมการออกแบบภูมิทัศน์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ (iv) กิจกรรมการจัดทำและถ่ายทอดการสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนป่าสักงาม
ผลการดำเนินงานในกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำผ่านการเรียนรู้และการปฏิบัติจริง จำนวน 6 ฝาย และปลูกกล้วยที่เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ผลของกิจกรรมที่ 2 คือ แผนพัฒนาชุมชนบนฐานทรัพยากรของชุมชน เริ่มด้วยการทบทวนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ค้นหาทุนชุมชนในพื้นที่ และกำหนดแผนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม ทำให้ได้เป้าหมายของแผนพัฒนาชุมชน คือ “สร้างความมั่นคงทางอาหารภายในชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานในระยะเวลา 3 ปี การบรรลุแผนฯ ในระยะเวลาดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจและทัศนคติการพึ่งตนเองและเสริมองค์ความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นตัวอย่างที่สำเร็จ จึงเกิดการเรียนรู้ในพื้นที่จริงกับปราชญ์ในสามพื้นที่คือ พ่อเลี่ยม บุตรจันทา บ้านนาอิสาน จังหวัดฉะเชิงเทรา พ่อคำเดื่อง ภาษี จังหวัดบุรีรัมย์ และพ่อพงษ์พันธุ์ นันทขว้าง จังหวัดลำพูน และผลของการเรียนรู้นำไปสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ของเกษตรกรอาสาจำนวน
3 ราย ผลของกิจกรรมที่ 3 การออกแบบผังภูมิทัศน์ชุมชนโดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหารท้องถิ่นในครัวเรือนและของชุมชนอย่างยั่งยืนและส่งเสริมสภาพแวดล้อมชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ การออกแบบในบริเวณที่อยู่อาศัยของครัวเรือนจำนวน 3 ราย และการออกแบบในพื้นที่สาธารณะของชุมชน ได้แก่ โรงเรียน (เก่า) บ้าป่าสักงาม วัดบ้านป่าสักงาม ตลาดชุมชน แผ่นดินหวิด และศาลหลวงพ่อคำแดง และผลของกิจกรรมที่ 4 คือ การถ่ายทอดการจัดการฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมของชุมชนเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ด้วยการเก็บข้อมูลตำแหน่งสถานที่สำคัญ ขอบเขตแปลงที่ดิน เส้นทางน้ำ และนำเข้าและจัดสร้างฐานข้อมูลด้วยการอบรมโปรแกรมรหัสเปิดสารสนเทศภูมิศาสตร์ ความรู้ด้านฐานข้อมูลเชิงพื้นที่นี้สะท้อนให้ชุมชนมองเห็นศักยภาพและคุณภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้วางแผน จัดการ และตัดสินใจใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ |
สาขาการวิจัย |
|