คำอธิบาย |
กลุ่มแปลงใหญ่มะเขือเทศเต่างอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ได้จัดตั้งขึ้นเนื่องจากได้รับการส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศจากโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นห่วงความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของราษฎร ซึ่งทำให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศประสบปัญหาจากโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแม้มีการใช้สารเคมีทางการเกษตร เป็นปัญหาใหญ่ที่ทางกลุ่มต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยสามารถแยกและคัดเลือกแบคทีเรียปฏิปักษ์ที่สามารถควบคุมโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองมะเขือเทศได้ จึงดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้พร้อมศึกษาทัศนคติต่อการใช้สารเคมีและแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการปลูกมะเขือเทศให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศจำนวน 60 คน และดำเนินการปลูกมะเขือเทศโดยชีววิธีด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์ร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศจำนวน 10 คน พร้อมศึกษาทัศนคติต่อการใช้สารเคมีและแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการปลูกมะเขือเทศ วิเคราะห์ต้นทุนการผลิต ผลผลิต และรายได้ของเกษตรกร และสัมภาษณ์ความคิดเห็นของเกษตรกรต่อแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองมะเขือเทศ ผลการดำเนินงานพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศจำนวน 60 คน ส่วนใหญ่มีเขตพื้นที่ปลูกที่หมู่ 4 บ้านนางอย (ร้อยละ 63.33) มีประสบการณ์การปลูกมะเขือเทศมากกว่า 10 ปี (ร้อยละ 53.34) มีพื้นที่ในการปลูกมะเขือเทศมากกว่า 1 ไร่ แต่ไม่เกิน 5 ไร่ (ร้อยละ 80.00) มีต้นทุนต่อปีในการปลูกมะเขือเทศ 5,001- 15,000 บาท (ร้อยละ 43.33) มีรายได้ต่อปี (หลังหักค่าใช้จ่าย) 10,001-30,000 บาท (ร้อยละ 38.33) และมีลักษณะการปลูกมะเขือเทศผสมผสานระหว่างสารเคมีและสารอินทรีย์ (ร้อยละ 91.66) เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศที่เข้ารับการอบรมมีทัศนคติต่อการใช้สารเคมีทางการเกษตรและแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการปลูกมะเขือเทศภายหลังการอบรมดีกว่าก่อนการอบรมในทุกรายการประเมินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เกษตรกร จำนวน 10 รายที่ร่วมปลูกมะเขือเทศโดยชีววิธีด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์มีทัศนคติต่อการใช้สารเคมีทางการเกษตรและแบคทีเรียปฏิปักษ์ในการปลูกมะเขือเทศในทุกรายการประเมินดีขึ้นกว่าก่อนการปลูกมะเขือเทศโดยชีววิธีด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เกษตรกรทั้ง 10 รายมีผลผลิตมะเขือเทศและรายได้เพิ่มขึ้นทุกคนซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียปฏิปักษ์สามารถป้องกันและควบคุมการระบาดโรคเหี่ยวเขียวและโรคเหี่ยวเหลืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรทั้ง 10 คนมีความพึงพอใจและเชื่อมั่นว่าแบคทีเรียปฏิปักษ์สามารถใช้ในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองมะเขือเทศได้จริง มีความพึงพอใจตั้งแต่ 70 – 100% และมีความต้องการปลูกมะเขือเทศโดยชีววิธีด้วยแบคทีเรียปฏิปักษ์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการควบคุมโรคเหี่ยวเขียวและเหี่ยวเหลืองมะเขือเทศ
|