ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การพัฒนาแนวทางการจัดการความรู้นวัตกรรมกระบวนการด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ : กรณีศึกษาโรงเรียนผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนตำบลไกรนอก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง อ.ดร.ดนชิดา วาทินพุฒิพร
เจ้าของผลงานร่วม ดร.ณิชาพร ศรีนวล
คำสำคัญ นวัตกรรมกระบวนการด้านการเกษตร;ผู้สูงอายุ;สุขภาวะ
หน่วยงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปีที่เผยแพร่ 2564
คำอธิบาย งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานรูปแบบและเทคโนโลยีการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ 2) เพื่อพัฒนาคู่มือและแนวทางการจัดการความรู้นวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ 3) เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการความรู้นวัตกรรมกระบวนการด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ 4) เพื่อประเมินผลและถอดองค์ความรู้จากการนำใช้แนวทางจัดการความรู้นวัตกรรมกระบวนการด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ เผยแพร่องค์ความรู้และขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อื่น เป็นการวิจัยประยุกต์ โดยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ตามแนวคิดกระบวนการจัดการความรู้ SECI Model แบ่งกระบวนการวิจัยออกเป็น 4 ขั้นตอนได้แก่ ขั้นที่ 1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ ขั้นที่ 2 การจัดระบบความรู้และบูรณาการความรู้ ขั้นที่ 3 การปรับใช้ความรู้ เชื่อมโยงและขยายผล ขั้นที่ 4 การวัดและประเมินผลการจัดการความรู้ ดำเนินการผ่าน 4 ชุดกิจกรรมโดยมี ผลการดำเนินการวิจัยดังนี้ ชุดกิจกรรมที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ พบว่าผู้สูงอายุและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรและสุขภาพในพื้นที่เห็นว่า ข้อจำกัดทางกายจากความชราเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำการเกษตร ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย ร้อยละ 33.33 จากความเสื่อมของข้อ การทรงตัวและความเหนื่อยหอบ และ จำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์ในการเคลื่อนไหว ร้อยละ 2.08 และพบว่าผู้สูงอายุที่ไม่ทำการเกษตรความเสี่ยงการปนเปื้อนสารเคมีในเลือดสูงกว่าผู้สูงอายุที่ไม่ทำการเกษตร เนื่องจากไม่มีทางเลือกในการบริโภค ผู้สูงอายุจึงต้องการเรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยและการจัดทำแปลงเกษตรที่ทำให้พวกเขาสามารถทำการเกษตรได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยนี้ได้นำหลักการออกแบบเพื่อทุกคนมาปรับใช้ในกระบวนการทำการเกษตรควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านการทำเกษตรตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ชุดกิจกรรมที่ 2 พัฒนาคู่มือและแนวทางการจัดการความรู้นวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ เป็นการพัฒนายกร่างคู่มือนวัตกรรมกระบวนการเกษตรเพื่อสุขภาวะ แบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบดังนี้ 1) แนะนำนวัตกรรมกระบวนการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ 2) ทำความรู้จักความสูงวัย 3) หลักการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุในงานเกษตร 4) แปลงสาธิตนวัตกรรมกระบวนการเกษตรเพื่อสุขภาวะของโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลไกรนอก และมาตรฐานเกษตรปลอดภัย 5) การเตรียมความพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ 6) หลักสูตรนวัตกรรมกระบวนการเกษตรเพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุ โดยได้ดำเนินการพัฒนาคู่มือไปควบคู่ไปกับการจัดแปลงสาธิตนวัตกรรมกระบวนการเกษตรเพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุ และดำเนินการปรับปรุงแปลงสาธิตโดยแบ่งกลุ่มนวัตกรรมออกเป็น 6 ส่วนได้แก่ 1) ผังแปลงรวม 2) เลนอัจฉริยะ 3) โครงสร้างแปลงที่มีหลากหลายระดับ 4) ระบบน้ำเพื่อทุกคน 5) การออกแบบค้างไม้เลื้อยให้มีความหลากลาย 6) การนำวัสดุเหลือทิ้งในครัวเรือนมาปรับใช้ในแปลง และ7) การจัดทำแปลงตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ตลอดจนการเรียนรู้การเกษตรวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุ ชุดกิจกรรมที่ 3 การพัฒนาแนวทางการจัดการความรู้นวัตกรรมกระบวนการด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ เป็นการพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุโดยการนำนวัตกรรมกระบวนการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุมาถ่ายทอด และเรียนรู้ผ่านหลักสูตรนวัตกรรมกระบวนการเพื่อสุขภาวะผู้สูงอายุได้แก่ 1) รู้อะไร 2) รู้ตนเอง 3) รู้ผลิต 4) รู้ตลาด 5) รู้แบ่งปัน ซึ่งเป็นการขยายผลนำผู้สูงอายุที่ได้รับการพัฒนาเป็นวิทยากรแหล่งเรียนรู้ 7 คน ให้ความรู้แก่นักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุ 2 ตำบลใกล้เคียง ผลการประเมินผู้สูงอายุตำบลข้างเคียงพบว่าผู้สูงอายุมีความระดับความคิดเห็นระดับมากและมากที่สุดในทุกด้านโดยเห็นว่านวัตกรรมมีความแปลกใหม่และไม่ยากจนเกินไปทำให้พวกเขาสามารถนำลูกหลานมาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตามได้ทันที ชุดกิจกรรมที่ 4 ประเมินผลและถอดองค์ความรู้จากการนำใช้แนวทางจัดการความรู้นวัตกรรมกระบวนการด้านการเกษตรเพื่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ จากการลงพื้นที่สังเกตการณ์ผู้สูงอายุในการปรับใช้นวัตกรรมพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่นำนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในแปลงและนำผลผลิตมาช่วยในการลดรายจ่ายในครัวเรือน ผลการประเมินตนเองตามผลลัพธ์การเรียนรู้เกี่ยวกับสาภาวะของผู้สูงอายุใน 4 มิติและผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ พบว่า ผู้สูงอายุมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองทั้ง 4 มิติในระดับมากที่สุดในทุกด้านและสามารถนำแนวทางไปลดรายจ่ายได้มากถึงร้อยละ 45.05 โดยเฉลี่ย 812.20 บาท/เดือน/ ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 33,300 บาท/เดือน และมีผู้ปลูกเพื่อขาย ร้อยละ 45.05 โดยมีเฉลี่ย 2,040 บาท/เดือน/ ครัวเรือน จำนวนรวมทั้งสิ้น 51,000 บาท/เดือน และเกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในแปลงสาธิตของโรงเรียนผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้น 4,098 บาท หรือเฉลี่ย 819.60 บาทต่อเดือน ขณะที่ รายจ่ายรวมทั้งสิ้น 2,958 บาท เฉลี่ย 591 บาทต่อเดือน โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนและส่งเสริมกิจกรรมของผู้สูงอายุ ผลการจัดทำเวทีสาธารณะเพื่อเป็นการวิจัยหลังปฏิบัติงาน โดยมีแนวนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างความยั่งยืนของนวัตกรรมดังนี้ องค์การบริการส่วนตำบลไกรนอกและภาคีเครือข่ายร่วมกันยกระดับแปลงสาธิตและพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ขยายไปยังครัวเรือนในลักษณะผู้สูงอายุ 1 คนขยายสู่เพื่อนบ้าน 3 คน การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้การรับรองมาตรฐานมากยิ่งขึ้นในครัวเรือน การจัดหาองค์ความรู้ในการแปรรูปสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้าและจัดช่องทางการตลาด เพื่อเป้าหมายสำคัญในการรักษาสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน
สาขาการวิจัย
  • เกษตรศาสตร์

ภาพที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง