ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
โครงการ การจัดการความรู้การสกัดน้ำมันรำข้าวจากข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าว ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดปทุมธานี |
ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง ภาษาอังกฤษ |
Knowledge management of Rice Bran Oil Extraction for Value Added Rice of Community Enterprise in Pathum-thani Province. |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ปภาวดี คล่องพิทยาพงษ์ |
เจ้าของผลงานร่วม |
เภสัชกร อิทธิชัย ทิมมณี ,
ว่าที่ร้อยตรี ดร.วิโรจน์ มีรุ่งเรือง |
คำสำคัญ |
การสกัด;น้ำมันรำข้าว;ข้าว;เพิ่มมูลค่า;วิสาหกิจชุมชน |
หน่วยงาน |
มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย |
ปีที่เผยแพร่ |
2564 |
คำอธิบาย |
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ได้ดำเนินการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของน้ำมันรำข้าวติดต่อเป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๕ ปี ซึ่งพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด โดยเฉพาะแกมมา ออไรซานอล ซึ่งพบว่าสามารถทำลายเซลล์มะเร็งชนิดต่าง ๆ ประกอบกับจังหวัดปทุมธานีได้ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยได้มาตรฐานจากข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของจังหวัด ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีมีวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกข้าวอยู่มากมาย และจากการสีข้าวก็จะมีผลพลอยได้ คือ รำข้าว ส่วนใหญ่ก็จะนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งรำข้าวนี้สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันรำข้าว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ทางคณะฯ มองเห็นถึงประโยชน์ของการนำรำข้าวมาเพิ่มมูลค่าให้ข้าว โดยการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยในการจัดการความรู้เพื่อให้ได้น้ำมันรำข้าวที่มีมาตรฐาน พัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การสำรวจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง ๔ แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรม วิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลบึงกาสาม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและแปรรูปข้าวบ้านบึงสมบูรณ์ และวิสาหกิจชุมชนบ้านพอเพียงเกษตรปลอดสารเคมี ทั้งด้านข้อมูลพื้นฐาน และด้านความพร้อมในการอบรม จึงได้ทำการคัดเลือกวิสาหกิจชุมชน ๒ แห่งที่มีความพร้อมมากที่สุดในการเข้าร่วมอบรม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนเพราะรักกสิกรรรม และวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่ตำบลบึงกาสาม ผลการบีบสกัดเย็นน้ำมันรำข้าวและตรวจสอบคุณภาพน้ำมันรำข้าว พบว่า รำข้าวหอมปทุมธานี ๑ ให้ผลผลิตร้อยละของน้ำมันรำข้าวมากกว่ารำข้าว กข.๔๓ ค่าสีของน้ำมันรำข้าวจากข้าวทั้ง ๒ ชนิด มีสีดำคล้ำ มีกลิ่นหอม และไม่มีกลิ่นเหม็นหืน น้ำมันรำข้าวหอมปทุมธานี ๑ และน้ำมันรำข้าวกข.๔๓ มีค่าเพอร์ออกไซด์ที่สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานกำหนดและน้ำมันรำข้าวหอมปทุมธานี ๑ มีปริมาณแกมมาโอไรซานอลมากที่สุด ผลการอบรมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ ๒ กลุ่ม โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม ๒๐ คน บรรยาย สาธิตและทดลองปฏิบัติการหัวข้อ ประโยชน์ของน้ำมันรำข้าว การเก็บและเตรียม วิธีการสกัด การทำให้น้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์ การทดสอบคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันรำข้าว และประเมินผลการประเมินความรู้ ความพึงพอใจของวิสาหกิจที่เข้าร่วมการอบรม พบว่าส่วนใหญ่เพศชาย คิดเป็นร้อยละ ๗๐ อายุ ช่วงอายุ ๔๑-๕๐ ปี คิดเป็นร้อยละ ๔๐ ผลประเมิน ก่อนและหลังการอบรมพบว่ามีระดับความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ประโยชน์ของน้ำมันรำข้าว ระดับความรู้เพิ่มขึ้นจากระดับน้อยเป็นระดับดีมาก วิธีการเก็บและการเตรียมรำข้าว วิธีการสกัดน้ำมันรำข้าว วิธีการทำให้น้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์ และวิธีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากน้ำมันรำข้าวระดับความรู้เพิ่มขึ้นจากระดับน้อยมากเป็นระดับดีมาก และวิธีการการทดสอบคุณภาพมาตรฐานของน้ำมันรำข้าว ระดับความรู้เพิ่มขึ้นจากระดับน้อยเป็นระดับดี และผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมการอบรม มีระดับความพึงพอใจมากที่สุดในทุกหัวข้อการประเมิน จะเห็นได้ว่าการอบรมจัดการความรู้การสกัดน้ำมันรำข้าวจากข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถเป็นแนวทางความร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ให้แก่วิสาหกิจชุมชนในยอดต่อการเพิ่มมูลค่าน้ำมันรำข้าวจากข้าวที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และสร้างมูลค่าต่อข้าวอย่างยั่งยืน |
กลุ่มการนำไปใช้ประโยชน์ |
ด้านสังคม/ชุมชน |
สาขาการวิจัย |
|