ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง การเปรียบเทียบการตกค้างของสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมตและกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตใน ผักตลาดค้าส่งและตลาดท้องถิ่น จังหวัดพะเยา
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง นายธราดล อินจันทร์
เจ้าของผลงานร่วม ผศ.ดร.บุหรัน พันธุ์สวรรค์
คำสำคัญ สารเคมีกำจัดแมลง;คาร์บาเมต;ออร์กาโนฟอสเฟต
หน่วยงาน วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา
ปีที่เผยแพร่ 2561
คำอธิบาย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการสกัดและเปรียบเทียบปริมาณเมทโธมิล คาร์โบฟูราน คาร์บาริล และคลอร์ไพริฟอส ที่ตกค้างในผักจากตลาดค้าส่งและตลาดท้องถิ่น จังหวัดพะเยา ในผักคะน้า พริกขี้หนู ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แตงกวา ต้นหอม ผักชี และถั่วฝักยาว โดยใช้เครื่อง HPLC-UV ซึ่งทำการเก็บตัวอย่างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 - มีนาคม 2561 ผลการศึกษาพบว่า น้ำหนักตัวอย่างผักที่เหมาะสมในการสกัด คือ 10 กรัม สกัดด้วยอะซีโตไนไตรล์ปริมาตร 20 มิลลิลิตร และกำจัดสิ่งปนเปื้อนด้วยแมกนีเซียมซัลเฟต 1 มิลลิกรัม ละลายด้วยอะซีโตไนไตรล์ 1.5 มิลลิลิตร และนำไปวิเคราะห์ด้วยเครื่อง HPLC-UV ซึ่งค่าร้อยละการได้กลับคืน (% Recovery) อยู่ในช่วง 60.6-120.8 และพบว่าปริมาณการตกค้างของสารเคมีกำจัดแมลงจากทั้ง 4 ชนิด ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ทั้งสองตลาด ยกเว้นคาร์บาริลในกะหล่ำปลี และคลอร์ไพริฟอสในต้นหอมมีปริมาณการตกค้างที่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 โดยพบสารเคมีกำจัดแมลง (เมทโธมิล คาร์โบฟูราน คาร์บาริล และคลอร์ไพริฟอส) ตกค้างในตัวอย่าง 95 ตัวอย่าง (ร้อยละ 76) จากตลาดค้าส่ง 48 ตัวอย่าง และจากตลาดท้องถิ่น 44 ตัวอย่าง และพบคลอร์ไพริฟอสตกค้างในตัวอย่างผักเกือบทุกชนิดในทั้งสองตลาด ทั้งนี้สารเคมีกำจัดแมลงที่ตรวจพบในปริมาณสูงที่สุด คือ เมทโธมิล ตกค้างในกะหล่ำปลี จากตลาดค้าส่ง 2.71 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตลาดท้องถิ่น 4.26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนั้นยังพบว่า ผักตัวอย่างจากทั้งสองตลาดที่ตรวจพบสารเคมีกำจัดแมลงทั้ง 4 ชนิด เกินค่ามาตรฐานของ ไทย โคเด็กซ์ และสหภาพยุโรป ได้แก่ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และแตงกวา และพบว่า ปริมาณการตกค้างของสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่มคาร์บาเมตและกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในผักทั้ง 10 ชนิด จากตลาดค้าส่งและตลาดท้องถิ่นไม่มีความแตกต่างกัน
สาขาการวิจัย -