ชื่อโครงการวิจัย/ชื่อเรื่อง |
การประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของการบริการของระบบนิเวศบริเวณแหล่งต้นน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มและการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของการลงทุนเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของลาดดิน |
ชื่อนักวิจัย/ชื่อผู้แต่ง |
กัญจน์ชญา เม้าสิ้ว |
เจ้าของผลงานร่วม |
รองศาสตราจารย์ ดร.จรัณธร บุญญานุภาพ ,
รองศาสตราจารย์ ดร.กณิตา ธนเจริญชณภาส |
คำสำคัญ |
การประเมินมูลค่าการบริการของระบบนิเวศ;ดินถล่ม;วิธีเพิ่มเสถียรภาพของลาดดิน |
หน่วยงาน |
สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยนเรศวร |
ปีที่เผยแพร่ |
2562 |
คำอธิบาย |
ผลกระทบของดินถล่มในปี 2549 ที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของระบบนิเวศในด้านการให้ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนต่อชุมชนท้องถิ่นในตำบลแม่พูล ยังกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของการบริการของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากดินถล่มในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ พร้อมทั้งประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของวิธีเพิ่มเสถียรภาพของลาดดิน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์ระบบนิเวศบริเวณแหล่งต้นน้ำของตำบลแม่พูล ผลการประเมินมูลค่าการบริการของระบบนิเวศแหล่งต้นน้ำในเขตพื้นที่ตำบลแม่พูล พบว่า ระบบนิเวศป่าเบญจพรรณผสมไผ่ มีมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดสูงสุด โดยมีมูลค่าเท่ากับ 112,425.7 บาทต่อไร่ รองลงมา ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ และระบบสวนไม้ผลผสมแบบวนเกษตร โดยมีมูลค่าไร่ละ 103,574.1 และ 98,870.7 บาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าของการบริการของระบบนิเวศประเภทเดียวกันระหว่างสถานการณ์ปกติกับสถานการณ์ภายหลังจากเกิดดินถล่มมาแล้ว 9 ปี ทำให้ได้ข้อมูลการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของการบริการของระบบนิเวศแต่ละประเภท โดยในกรณีที่เกิดดินถล่มระบบนิเวศป่าเบญจพรรณผสมไผ่มีการสูญเสียมูลค่าของการบริการสูงที่สุด เท่ากับ 79,228.0 บาทต่อไร่ ขณะที่ป่าเบญจพรรณและสวนไม้ผลผสมแบบวนเกษตรมีการสูญเสียการบริการของระบบนิเวศเท่ากับ 73,543.1 และ 44,716.4 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนของวิธีเพิ่มเสถียรภาพของลาดดินเพื่อป้องกันดินถล่มในพื้นที่แหล่งต้นน้ำของตำบลแม่พูลจำนวน 4 มาตรการ ภายใต้การสร้างสถานการณ์สมมติที่ดำเนินมาตรการป้องกันดินถล่มในช่วงเวลา 20 ปี แสดงให้เห็นว่า หากมาตรการมีประสิทธิภาพในการป้องกันดินถล่มได้อย่างสมบูรณ์ มาตรการป้องกันดินถล่มบริเวณลำน้ำตามธรรมชาติที่เน้นการปลูกลองกอง (ML1) ให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิสูงที่สุด มีมูลค่าเท่ากับ 512,806.28 บาทต่อไร่ รองลงมาเป็นมาตรการป้องกันดินถล่มในสวนไม้ผลบนที่ลาดชันที่เน้นการปลูกลองกอง (ML2) มีมูลค่าเท่ากับ 418,493.96 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ หากดำเนินมาตรการป้องกันดินถล่มในสวนไม้ผลบนที่ลาดชันที่เน้นการปลูกกาแฟ (MC2) จนถึงปีที่ 5 จะเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ขณะที่มาตรการอื่นต้องดำเนินมาตรการจนถึงปีที่ 6 ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถผลักดันไปใช้ในการเสนอแนวทางการพัฒนาข้อตกลงของการจ่ายค่าตอบแทนการบริการของระบบนิเวศ (PES) โดยอยู่บนฐานของแนวคิดสิทธิชุมชนท้องถิ่นและการจัดการทรัพยากรบริเวณแหล่งต้นน้ำในพื้นที่ตำบลแม่พูลร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในการได้รับผลตอบแทนจากความสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำของตำบลแม่พูลในอนาคต |
สาขาการวิจัย |
-
|